น้ำตาลคือจำเลย

ปัจจุบันมีความพยายามที่จะทำให้คนไทยเลิกกินน้ำตาล ซึ่งจะไม่ยุติธรรมกับ “น้ำตาล” และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับน้ำตาลเท่าไร

เราเองก็มีส่วนได้รับประโยชน์จากน้ำตาล ครอบครัวของเรามีไร่อ้อย อยู่ในจังหวัดกาญจบุรี ขายอ้อยให้กับโรงงานน้ำตาล ช่วงฤดูฝนของทุกปีจะต้องมาลุ้นว่าปีนี้ฝนจะเยอะมั้ย ถ้าไม่เยอะก็ต้องสูบน้ำเข้าไร่อ้อย เสียค่าน้ำมันไม่ใช่น้อยต่อการสูบแต่ละครั้ง ต้องใส่ปุ๋ยบำรุงดิน เพื่อให้ได้น้ำหนัก ได้ค่าความหวาน และสุดท้ายก็จะต้องลุ้นว่าราคาอ้อยจะเป็นอย่างไร

ราคาอ้อยปีนี้ประมาณตันละ 680 บาท ซึ่งกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยทั้งหลาย ครม. จึงได้อนุมัติวงเงินช่วยเหลือเกษตรกรไร่อ้อยตามระเบียบ โดยให้ ธกส. เป็นผู้จัดการ เกษตรกรจะได้เงินช่วยเหลือตันละ 50 บาท และได้รับจากกองทุนอ้อยและน้ำตาลทรายอีกตันละ 70 บาท ที่ผ่านมาประเทศไทยได้ร่วมกันวางแนวทางการจัดการเพื่อแก้ปัญหาข้อฟ้องร้องของบราซิล ในประเด็นเรื่องการอุดหนุนเกษตรกร และอุดหนุนผู้ประกอบการผู้ส่งออกน้ำตาล ทำให้น้ำตาลของประเทศไทยมีราคาถูกเกิดความได้เปรียบทางการค้าในมุมของบราซิล

เมื่อสินค้าราคาถูก ความต้องการสินค้าก็จะมาก ความสัมพันธ์แบบนี้ก็ดันไปสอดคล้องกับการบริโภคน้ำตาลของคนไทยที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วงกว่าสามทศวรรษที่ผ่านมาเสียด้วย แต่เราจะไปโทษราคาน้ำตาลแต่เพียงอย่างเดียวก็คงไม่ได้

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อเรารู้สึกเพลียหรือเครียด การได้ดื่มน้ำหวานเย็นๆ หรือกินของหวานอร่อยๆ มันทำให้เราสดชื่นขึ้นมาได้ไม่น้อย เนื่องจากอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลช่วยเพิ่มสารสื่อประสาทในสมอง และนี่ก็เป็นสาเหตุของใครหลายๆคน ใช้วิธี “กิน” เพื่อคลายเครียด นอกจากนี้ เมื่อเรากินน้ำตาลเข้าไปมากๆ ฮอร์โมนอินซูลินจะพุ่งขึ้นเพื่อลดน้ำตาลในเลือดของเรา และเมื่อน้ำตาลในเลือดลดลงมากๆ ร่างกายเราก็อยากได้น้ำตาลเพิ่มขึ้น สองสาเหตุนี้เอง ทำให้เราติดหวานมากขึ้นโดยไม่รู้ตัว

งานวิจัยหลายชิ้นชี้ชัดถึงข้อเสียของน้ำตาล แต่ขอเน้นว่าเป็นผลเสียเหล่านั้นเกิดจากการกินน้ำตาลที่มากเกินความจำเป็นของร่างกาย

ปัจจุบันมีเครื่องดื่มหลายชนิดที่ใช้สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ซึ่งเดิมทีสารทดแทนน้ำตาลเหล่านี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานได้มีความสุขกับการกินอะไรหวานๆได้ โดยที่ไม่มีผลต่อการเพิ่มน้ำตาลในเลือด

หากแต่ปัจจุบันสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลเหล่านี้ถูกนำมาใช่แพร่หลายในอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม แถมกระหน่ำโฆษณา Zero cal เพื่อกระตุ้นคนที่อยากกินแต่ไม่อยากอ้วนโดยเฉพาะ

เราเคยเอาเครื่องดื่มน้ำดำมาให้นิสิตทดสอบโดยไม่บอกยี่ห้อ เมื่อให้ข้อมูลปริมาณน้ำตาลของเครื่องดื่มตัวอย่าง นิสิตจำนวน 62 ราย จาก 241 ราย เปลี่ยนใจมาเลือกเครื่องดื่มแบบ Zero cal และเมื่อถามนิสิตที่ยังคงตัดสินใจดื่มแบบ Zero cal ทั้งที่ทราบและไม่ทราบปริมาณน้ำตาลว่า เป็นคนกินหวานใช่หรือไม่ นิสิตตอบว่า ใช่ และยังให้เหตุผลอีกว่า สูตรดั้งเดิมหวานน้อยไป ไม่อร่อย

แต่สำหรับเรานะ เราว่าเครื่องดื่มที่ใช้สารทดแทนน้ำตาลให้ความหวานที่ปะแล่มๆ ไม่กลมกล่อมเอาเสียเลย

รายการ Trust me, I’m a doctor ของ BBC ได้ทำการทดลองให้ผู้เข้าร่วมให้ดื่มเครื่องดื่มน้ำดำสูตรดั้งเดิม และสูตรใช้สารทดแทนน้ำตาลก่อนกินอาหารจานหลัก ผลการทดลองพบว่า กลุ่มผู้เข้าร่วมที่ดื่มสูตรใช้สารทดแทนน้ำตาล กินอาหารมากกว่ากลุ่มที่ดื่มสูตรดั้งเดิมอย่างมีนัยสำคัญ

เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะสารทดแทนน้ำตาลนั้นไม่ให้พลังงานใดๆ แก่เรา แต่ร่างกายเรายังคงต้องการพลังงาน ทำให้กลุ่มที่ดื่มสูตรใช้สารทดแทนน้ำตาลจึงกินอาหารมากกว่านั่นเอง

งานวิจัย Mooradian และเพื่อน ได้เน้นย้ำว่า ทางที่ดีที่สุดคือ จำกัดการกินสารทดแทนความหวานเหล่านี้จะดีกว่า เพราะการกินของหวานที่ใส่สารทดแทนน้ำตาล ทำให้ต่อมรับรสของเราคุ้นเคยและชินกับความหวาน แถมยังส่งเสริมให้เรากินหวานมากยิ่งขึ้นและมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของน้ำหนักเราอีกด้วย

ระยะหลังเริ่มงานวิจัยหลายชิ้นที่ทำให้เราต้องคิดมากขึ้น เช่น งานของ Huper (2016) กับ Le Voyageur Temps (2018) ที่พบว่าสารทดแทนความหวานดันไปเพิ่มความเสี่ยงของโรคมะเร็ง แม้งานในอดีตจะไม่ยืนยันชัดเจน เนื่องจากเป็นการทดลองในระยะสั้นๆ ไม่สามารถเห็นผลระยะยาวได้ ซึ่งคาดว่าจะได้ความชัดเจนมากขึ้นในอนาคต

หลายๆคนชอบดื่มน้ำผลไม้แบบกล่องที่ใส่สารทดแทนความหวาน เพราะดื่มง่าย แถมยังไม่ต้องปลอกผลไม้ให้เสียเวลา แต่คุณรู้หรือไม่ว่า น้ำผลไม้กล่องประเภทนี้ ยิ่งมีสารทดแทนความหวานมาก ก็จะไปเพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคเบาหวานมากขึ้น (Xi B et al, 2014) ทางที่ดี คุณเปลี่ยนมาดื่มน้ำผลไม้ที่คุณคั้นเองจะดีกว่า แต่ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นก็กินผลไม้สดๆ เลย เพราะคุณจะได้กากไยช่วยการทำงานของระบบขับถ่ายคุณด้วย

เราไม่แน่ใจว่าต้นทุนของการใช้สารทดแทนน้ำตาลในอุตสาหกรรมเครื่องดื่มนั้นต่ำกว่าการใช้น้ำตาลหรือไม่ ซึ่งเดาว่าน่าจะถูกกว่า แต่ราคาขายเครื่องดื่มที่ใช้สารทดแทนน้ำตาลกลับมีราคาไม่ต่างกับเครื่องดื่มที่ใช้น้ำตาลจริง

แต่มีสิ่งหนึ่งที่เรามั่นใจก็คือ เครื่องดื่มน้ำหวานเหล่านี้ มีมาร์จิ้นต่อขวดเยอะแน่นอน มิเช่นนั้น คงไม่สามารถกระหน่ำโฆษณา หรือจัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายได้มากขนาดนี้

หากเราจะแก้ปัญหาเรื่องการบริโภคน้ำตาลมากเกินไป เราควรลดการติดหวาน ไม่ใช่เลี่ยงไปกินสารทดแทนน้ำตาล เพราะถึงอย่างไร น้ำตาลก็ยังให้พลังงานและนำไปให้ประโยชน์ได้ และเราก็ไม่ใช่ผู้ป่วยเบาหวาน คงไม่มีความจำเป็นมั้งที่จะกินสารทดแทนน้ำตาลเหล่านี้

บทความนี้เราไม่ได้สนับสนุนให้กินน้ำตาลเยอะนะ แต่เราอยากจะบอกว่า ถ้าคุณจะกินน้ำหวาน คุณกินที่น้ำหวานใช้น้ำตาลจริงๆ เถอะ อย่ากินที่เป็นพวก Zero cal เลย ถ้าคุณไม่ได้เป็นโรคเบาหวาน

และเรายังต้องการพลังงานจากน้ำตาลกลูโคสเพื่อให้ดำรงชีพอยู่ได้ แต่เราต้องเลือกกินน้ำตาลให้ถูกและปริมาณที่เหมาะสม

หากท่านใดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

ที่มา

Huber, C. (2016). Cancer Patients’ use of Sweeteners: A 7-Year, Controlled Study. Int J Cancer Res Mol Mech, 2.

Mooradian, A. D., Smith, M. & Tokuda, M. (2017). The role of artificial and natural sweeteners in reducing the consumption of table sugar: A narrative review. Clinical nutrition ESPEN, 18, 1–8.

Temps, L. V. (2018). The truth about artificial sweeteners–Are they good for diabetics? : Elsevier.

XiB,LiS,LiuZ,TianH,YinX,HuaiP,etal.Intake of fruit juice and incidence of type 2 diabetes: a systematic review and meta-analysis. PLoS One 2014;9(3): e93471.

https://www.thairath.co.th/content/1394550

คอลัมน์: “หนุ่มสาวอีกครั้ง” ของ นพ. กฤษดา สิรามพุช หนังสือพลอยแกมเพชร ฉบับวันที่ 15 มีนาคม 2551

Photo by Blake Wisz on Unsplash

Leave a Reply