กว่าเกษตรไทยจะ 4.0
ความพยายามผลักดันไทยแลนด์ 4.0 ของภาครัฐทำให้สังคมไทยตื่นตัว หน่วยงานรัฐทั้งหลายพยายามกำหนดแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้เข้าธง4.0 มีการพัฒนาแอพลิเคชันมากมายเพื่อมุ่งหวังให้เกิดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big data) สามารถนำมาวิเคราะห์และพยากรณ์ได้ในอนาคต หากแต่การก้าวเข้าสู่ยุคดิจิตอลของสังคมเกษตรนั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด เกษตรกรส่วนมากมีอายุมากกว่า 50 ปี การปรับเปลี่ยนระบบเครือข่ายมือถือจาก2G เป็น 3G น่าจะเป็นก้าวแรกที่ทำให้เกษตรกรผู้สูงอายุเปลี่ยนจากการใช้โทรศัพท์แบบเดิมมาเป็นสมาร์ทโฟน หากแต่จะมีสักกี่รายที่จะใช้ฟังก์ชันอื่นนอกเหนือจากการโทรและรับสาย จะมีสักกี่รายที่โหลดแอพลิเคชันของหน่วยงานในกระทรวงเกษตรฯ มาใช้ประโยชน์
เมื่อช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมาผู้เขียนได้เข้าร่วมกิจกรรมฝึกงานนิสิตของภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ ม.เกษตร สำรวจทักษะความเข้าใจและใช้เทคโนโลยีดิจิตอล (Digital literacy) ของเกษตรกรในจังหวัดอ่างทองจำนวน754 ราย พบว่า ร้อยละ 63.9% ของครัวเรือนเกษตรที่ใช้สมาร์ทโฟน มีแท็บเล็ตเพียงร้อยละ 8.2มีโน้ตบุคร้อยละ 12.1 และมีคอมพิวเตอร์ 18.2 ซึ่งแท็บเล็ต โน้ตบุคและคอมพิวเตอร์นั้นมีไว้สำหรับบุตรหลานเพื่อใช้ในการศึกษา แม้เกษตรกรมากกว่าครึ่งจะใช้สมาร์ทโฟนแต่มีเกษตรกรที่รู้จักและมีการใช้ social media เช่น Line หรือ Facebook ร้อยละ 26.1 และ 23.6 ตามลำดับ แสดงให้เห็นถึงช่องว่างในการพัฒนาและผลักดันไปสู่เกษตร 4.0 ของรัฐ ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีว่าเกษตรกรที่เข้าสู่ในวัยผู้สูงอายุมีการยอมรับเทคโนโลยีดิจิตอลนั้นค่อนข้างยากกว่าเกษตรกรรุ่นใหม่ โดยให้เหตุผลว่า แก่แล้ว เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่ ในขณะที่เทคโนโลยีดิจิตอลเริ่มเข้ามา Distuptive ภาคเกษตรและจะเพิ่มมากขึ้นในไม่ช้านับจากนี้ จึงเป็นโจทย์ที่ท้าทายของกระทรวงเกษตรฯ
เพื่อเป้าหมายใหญ่ของการเป็นสังคมเกษตร 4.0 ภาครัฐต้องมีนโยบายกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทัศนคติและยอมรับเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อนำไปสู่เรียนรู้ของเกษตรกรในอนาคต นโยบายสนับสนุนการสร้างสภาพแวดล้อมทางสังคมของข้อมูลเทคโนโลยีดิจิตอลที่เป็นประโยชน์ง่ายแก่การเข้าถึงและเข้าใจ ไม่มีค่าใช้จ่าย เพื่อลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงข้อมูล แอพลิเคชันต่างๆที่พัฒนาขึ้นมาก็ควรจะมีความชัดเจน ตัวอักษรใหญ่ ง่ายต่อการใช้งาน เพื่อลดอุปสรรคในการใช้ของเกษตรกร และเกษตรกรมีส่วนร่วมในการพัฒนาเนื่องจากเป็นผู้ใช้เป้าหมายที่ นอกจากนี้ข้อมูลที่รัฐจะได้ก็ควรที่จะเปิดโอกาสให้นักวิจัยสามารถเข้าถึงเพื่อนำไปสังเคราะห์ให้เกิดประโยชน์และพัฒนาต่อไปในอนาคต