สิ่งที่เป็นอยู่ก็ดีอยู่แล้ว กับดักสำคัญที่ฉุดรั้งการเปลี่ยนแปลง
สวัสดีปีใหม่ค่ะเพื่อนๆ และคุณผู้อ่านทุกท่าน ผ่านพ้นช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองกันมาแล้ว แต่ละคนเป็นอย่างไรกันบ้าง ได้มีโอกาสเริ่มต้นสิ่งใหม่ๆ หรือเปิดโอกาสตัวเองให้สิ่งดีๆ ได้ก้าวเข้ามาในชีวิตเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ดีกว่าชีวิตเดิมๆ เมื่อปีที่ผ่านมากันบ้างรึยัง
ก่อนสิ้นปี EatEcon ได้นำเสนอเรื่องราวของการพาชีวิตหลุดพ้นจากกับดัก “ต้นทุนจม”
เพื่อเป็นแนวคิดในการเตรียมวางแผนรับปีใหม่ที่จะมาถึง…เช่นเดิมค่ะ เพื่อความต่อเนื่องและเปิดปฐมฤกษ์ของปีใหม่ทั้งที EatEcon ก็ไม่พลาดที่จะมานำเสนอบทความดีๆ เสิร์ฟให้ผู้อ่าน
หลายคนคงเคยได้ยินหรือได้อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับ Status Quo Bias กันมาบ้าง หรือใครที่ไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร บทความแรกของปี 2562 นี้ EatEcon จะขันอาสาพาทุกคนไปทำความรู้จักกับนิยามคำนี้
Status Quo Bias เป็นเรื่องจริงที่สิงอยู่ในตัวเราทุกคน พอถึงเวลาที่เราจะต้องตัดสินใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงอะไรสักอย่าง เจ้า Status Quo Bias ก็เป็นอันออกมาทำงานทุกคราไป แต่มันจะทำสำเร็จหรือไม่ก็ขึ้นอยู่กับการชั่งตวงด้วยเหตุและผลอย่างแท้จริงของแต่ละคน
คำว่า Status Quo มันก็คือสถานะปัจจุบันของเรา หรือ คือสิ่งที่เราเป็นอยู่ มีอยู่ ทำอยู่ ส่วน Bias ก็คืออคติหรือความลำเอียง แล้วถ้าเราคิดอยู่เสมอว่าสิ่งที่เราเป็นอยู่มันดีอยู่แล้ว และเราก็ไม่อยากต้องเหนื่อยกับการเปลี่ยนแปลงอะไร ไม่อยากก้าวข้าม Comfort Zone หรือความเคยชินนั่นแหละ เรากำลังตกหลุมพรางของ Status Quo Bias หรือเรียกว่าความลำเอียงในการตัดสินใจของคนเราที่เรามักจะไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงในสถานะของตัวเราเอง
มนุษย์เงินเดือนทั้งหลายต่างคงเคยผ่านโมเม้นท์ที่ต้องประเมินทางเลือกเพื่อตัดสินใจสร้างความก้าวหน้าของตัวเอง บางคนเลือกที่จะพอใจกับตำแหน่งงานและรายได้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน ทำงานมาเนิ่นนาน 10 ปีก็ยังนั่งอยู่ที่ตำแหน่งเดิม มีเงินเดือนเพิ่มขึ้นนิดหน่อย เพียงเพราะรู้สึกว่าที่ฉันทำอยู่ก็เพียงพอแล้ว แบบนี่คือใช้ Status Quo Bias แบบไม่ต้องคิด หรือบางทีก็แอบมีคิดอยากลองเปลี่ยนดูบ้าง แต่ข้ออ้างของความขี้เกียจก็ชนะไป…
เราว่ามีคนไม่น้อยที่ปล่อยให้ Status Quo Bias มันเป็นหนึ่งในจำนวนหลุมพรางมากมายที่ฉุดรั้งความก้าวหน้าในชีวิตและทำให้เราทำบางสิ่งไม่สำเร็จดังที่ตั้งใจ
…บางคนเพิ่งจบใหม่ ไฟกำลังโชติช่วง เข้ามาทำงานที่เดียวกัน เริ่มต้นด้วยเงินเดือนน้อยกว่า แต่เวลาไม่นานก็ขยับตัวเองมานั่งเคียงข้างกับรุ่นพี่คนก่อน เพราะเขาใช้ความสดใหม่ กล้าตัดสินใจเปลี่ยนแปลง หัวหน้างานมอบหมายงานให้ 30% เขายอมเหน็ดเหนื่อยทุ่มเททำงาน กลับบ้านดึกดื่น และมีผลงานให้บริษัทในระดับ 50% นี่งคงไม่ใช่ความ Bias ถ้าบริษัทจะปรับขึ้นเงินเดือนและเลื่อนตำแหน่งให้เพราะเขาสร้างประโยชน์ให้บริษัทได้มากกว่าที่บริษัทร้องขอ
…หรือบางคนที่เด็ดกว่าคือเมื่อทำงานมาระยะนึง เลือกตัดสินใจที่จะเปลี่ยนงาน ลาออกแล้วมาเดินตามความฝันของตัวเอง บางคนทำสวน ทำเกษตรอินทรีย์ บางคนเปิดร้านกาแฟเล็กๆ บางคนเป็นนักเขียน นักเดินทาง สร้างบล็อก/เพจของตัวเอง
ทั้งหมดนี้ คือการที่เขาเหล่านั้น “กล้าเปลี่ยนแปลง” ที่เหลือคือความพยายาม ความตั้งใจ เอาจริงเอาจัง ใช้พลังสมองควบคู่กับพลังใจ พลังกาย…ความสำเร็จในแบบฉบับของตัวเองคงอยู่ไม่ไกล
อีกเรื่องที่ไม่กล่าวถึงคงไม่ใช่ EatEcon คือ เรื่องพฤติกรรมเสี่ยงต่างๆที่เราทำจนเคยชิน ทำจนเป็นนิสัย จึงยากที่จะเปลี่ยนข้ามคืนความเคยชินในสิ่งเดิมกลายเป็นความยึดติด…สิ่งที่เป็นอยู่ก็ดีอยู่แล้ว
ในความเป็นจริงของสิ่งมีชีวิต มีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นตลอดเวลา เราจึงต้องปรับตัวให้เท่าทัน แต่การที่เราเลือกที่จะหลบอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองแล้วไม่ยอมเปลี่ยนเท่ากับเรากำลังฝืนธรรมชาติ
อาหารที่เรากินกันในทุกวันนี้ก็เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก เครื่องปรุงรสถูกคิดค้นพัฒนาไม่หยุดหย่อนปัจจุบันมีเกลือโพแทสเซียม ใช้แทนเกลือโซเดียมเพื่อแก้สาเหตุของโรคไตอันเกิดจากการกินโซเดียมมากเกินไป
หรือสารทดแทนน้ำตาลทั้งหลาย ที่เราไม่เคยระวังว่าจะมีผลต่อสุขภาพเรา
ทุกวันนี้เรากินเยอะเกินความต้องการของร่างกาย เรากินเกินกว่าคำว่าพอ เพราะเรากินตามปาก
เราฝึกให้ร่างกายชินกับการกินอาหารเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นหมูกะทะ สุกี้ หรือบุฟเฟต์ โปรโมชั่นต่างๆ ก็ช่างยั่วยวนเสียจนห้ามใจยาก แถมลามไปชวนเพื่อนสนิทมิตรสหายไปร่วมวงด้วยนับสิบ…รักกันไง เลยพากันเติบโต (ในแนวข้าง) จนลืมระมัดระวังสัญญาณเตือนที่บอกว่าเราต้องปรับเปลี่ยน แต่มันช่างยากเสียเหลือเกินเพราะจะเดินไปทางไหนก็มีแต่ร้านรวงใหม่ๆ เปิดให้บริการ โดยเฉพาะอาหารไขมัน
ทุกวันนี้สุขภาพของคนเมืองแย่ขึ้นทุกวัน เนื่องจากอาหารที่เรากินส่วนมากเป็นอาหารแปรรูปปรุงแต่งรสจนได้รสชาติอร่อยถูกปาก…ก็มันอร่อยอยู่แล้ว จะลดเค็ม ลดหวานไปทำไม
เราไม่ป่วยหรอก กินนิดเดียว ไม่ได้กินทุกวัน แบบนี้เค้าเรียกว่า ความลำเอียงของการมองความเสี่ยงในแง่ดี (Optimism Bias) ที่เชื่อว่าเราโชคดี หรือมีโอกาสน้อยกว่าคนอื่นที่จะป่วยเป็นโรคไต มะเร็ง เบาหวาน หรือโรคอื่นๆในกลุ่ม NCDs เราขอเรียกโรคในกลุ่มนี้ว่า โรคที่ป่วยเพราะปาก มาถึง ณ จุดนี้ อยากจะขอเล่าเรื่องที่น่าเศร้านิดนึง
เนื่องจากในปีนี้ หนึ่งใน admin ของเพจ EatEcon ได้สูญเสียเพื่อนไปสองคน ซึ่งคนแรกมีเสียชีวิตจากโรคเส้นเลือดในสมองแตก (Stroke) ซึ่งเพื่อนคนนี้มีโรคประจำตัวคือ เบาหวาน ความดันและหัวใจ ซึ่ง admin เคยชักชวนให้เพื่อนคนนี้เปลี่ยนวิธีการกิน เช่น การหันมากินผัก แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนเพื่อนคนที่สอง เป็นโรคอ้วนมาตั้งแต่สมัยเรียนด้วยกัน และก็เพิ่งเสียชีวิตไป จากโรคประจำตัวอันเนื่องมาจากกลุ่มของโรค NCDs เช่นกัน
ส่วนตัว admin เองนั้น ถือว่าโชคดีที่ก้าวข้าม Status Qua Bias มาได้ จุดเปลี่ยนสำคัญอยู่ที่การตัดสินใจเพราะกลัวตายนี่แหละ
หากอยากเห็นภาพให้ชัดขึ้น ขอให้เปิดคลิปวีดีโอของ สสส. เรื่อง The Ingredients: อาหารมื้อพิ(ษ)เศษ (https://youtu.be/A5Jyo3K1sA4) นี่เป็นตัวอย่างหนึ่งของสาเหตุการเสียชีวิตของคนในปัจจุบัน หากใครยังไม่ได้ดู กดลิ้งไปดูสักหน่อย ใช้เวลาไม่ถึงสิบนาที อาจเปลี่ยนความคิดให้กินระวังกันมากขึ้น
ในช่วงปีที่ผ่านมาคำว่า Passion ถูกพูดถึงกันมาก
Passion แปลง่ายๆคือ ความชอบ ความหลงไหล ที่หลายคนมองหา แต่เราว่าไม่ต้องหาหรอก สร้างมันขึ้นมาเองง่ายกว่า จะชอบหรือไม่ชอบ หลงไหลหรือไม่ มันอยู่ที่ความคิดเรานี่แหละ
แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ “การอดทนทำ”
หาข้อดีในสิ่งที่ต้องทำให้เจอ แล้วบอกใจให้ชอบในสิ่งที่ทำ เพราะใช่ว่าทุกคนจะได้ทำในสิ่งที่ชอบ
การกินน้อยลง กินให้พอดี ลดเค็ม ลดหวานลง แม้เราไม่ชอบ แต่เราต้องทำ และต้องแข็งใจทำ แข็งใจนี้สำคัญ เพราะเป็นด่านวัดใจที่ทำให้เราเอาชนะความอยากของเราได้ ถ้าเราตั้งใจลดจริง สักสองสัปดาห์ เราก็จะลดได้
ถ้าอยากให้สำเร็จแบบยั่งยืนลองทำอาหารเองบ้าง ลองอ่านฉลากข้างบรรจุภัณฑ์ของทุกเครื่องปรุงและวัตถุดิบที่หยิบซื้อจะทำให้เราเข้าใจว่าอาหารตลาดที่อร่อยทั้งหลาย ใช้เครื่องปรุงมากแค่ไหน แล้วเราจะเข้าใจว่า ทำไมเราต้องลด ทำไมเราต้องกลัว
เราขอสรุปว่า Passion เหมือนด่านแรกของความสำเร็จ คือ ฉันทะ คือความชอบ ที่ทำให้เราเต็มใจทำ ซึ่งมันไม่เพียงพอที่จะทำให้เราบรรุเป้าหมาย เพราะเมื่อทำไปเรื่อยๆ เราก็เบื่อ จึงต้องใช้ วิริยะ คือความอดทน แข็งใจทำ เมื่อทำแล้วต้องมีจิตตะ ความตั้งใจทำ และจะทำให้ดีที่สุดต้องทำด้วยวิมังสา คือ เข้าใจทำ
เหล่านี้คือ อิทธิบาท 4 หลักคำสอนที่เราเรียนกันในวิชาพระพุทธศาสนานี่แหละ ที่เราสามารถนำมาปรับใช้เอาชนะอคติของสภาวะเดิมที่เป็นอยู่ว่าดีแล้วได้ ด้วยการลงมือทำและทำด้วยความเต็มใจ แข็งใจ ตั้งใจ และเข้าใจไม่ต้องมีข้ออ้างใดๆเพื่อสุขภาพที่ดีของเราเอง
แท้จริงแล้ว ประเด็น Status Quo Bias มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากที่รอให้ผู้อ่านทำความเข้าใจ แต่หัวใจหลักของมัน คือ เราต้องเข้าใจ Status Quo หรือสถานะปัจจุบันของตัวเอง และใช้สติไม่ปล่อยให้ Bias มาควบรวมจนหลงพาตัวเองตกหลุมพรางแล้วเดินต่อไม่ได้
สวัสดีปีใหม่ 2562
Suwanna Sayruamyat, Apai Chanthachootoe and Winai Nadee
หากท่านใดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com
#eatecon