ฤา…เราเลือกที่จะไม่ฟัง

เรามักจะอยากได้ยินในสิ่งที่เราอยาก และหลีกเลี่ยงการได้ยินในสิ่งที่เราไม่อยากจะได้ยิน

การเลือกทั้งสองยินทั้งสองแบบเป็นอคติทางด้านความคิด (Cognitive bias) ที่เราเคยชิน 

การเลือกได้ยิน รับรู้ และเชื่อในสิ่งที่เราชอบหรือสนใจ เรียกว่า Confirmation bias

ขณะที่การเลือกที่จะไม่ได้ยิน ไม่รับรู้ และไม่เชื่อ ในสิ่งที่เราไม่ชอบหรือไม่สนใจ เรียกว่า Information avoidance

การเลือกแบบแรกทำให้เรามั่นใจ เพิ่มความชำนาญ ในสิ่งที่เรารัก เราชอบ 

แต่การเลือกแบบที่สอง หากมีมากจนเกินไป หลายครั้งทำให้เราพลาดสิ่งดีดีในชีวิต 

เป็นเรื่องปกติที่เราจะไม่ชอบและไม่อยากรับฟังความเห็นแบบ negative feedback เพราะมันทำร้ายจิตใจเสียเหลือกเกิน อันที่จริงฟังมากไปมันก็ไม่ดีจริง ๆ นั่นแหละ แต่หากเราไม่รับรู้เลย เราจะรู้ข้อผิดพลาดและพัฒนาตัวเราได้อย่างไร

ข้อมูลที่เราไม่อยากจะรับฟัง นี่แหละคือข้อมูลที่เราต้องรับฟัง เพราะมันเป็นความจริงอีกด้านที่มีคุณค่า

ไม่ต้องอะไรมาก แค่เรื่องกินนี่แหละ เรารู้ว่าอะไรดีมีประโยชน์ แต่เราเลือกที่จะมองผ่านมันไป เพราะมันไม่อร่อย

จะทำไงได้ ในเมื่อของที่ดีต่อสุขภาพเรามักไม่อร่อย ไร้รสชาติ เมื่อเทียบกับของอร่อย เช่น ไก่ทอด ชานมไข่มุก

จึงทำให้เราติดกับดัก Information avoidance แบบที่ไม่อยากจะก้าวออกมาจากกับดักนี้

แต่เมื่อถึงเวลาตรวจสุขภาพ หรือเกิดเจ็บป่วย…. คำว่า “รู้งี้…” ก็ผุดขึ้นมา นั่นอะนะ รู้อะไรไม่สู้ “รู้งี้…”

  • รู้งี้…ไม่น่ากินหวาน เช่น น้ำอัดลม ชานมไข่มุก 
  • รู้งี้..​.ไม่น่ากินมัน เช่น ของทอด
  • รู้งี้…ไม่น่ากินเค็ม เช่น เติมพริกน้ำปลา 
  • รู้งี้…ไม่น่ากินเยอะ บุฟเฟ่ต์งี้ หมูกะทะงี้ กินทีไร อิ่มจนถึงคอ 555

คำว่า “รู้งี้…” คือผลของการที่เรามีอคติแบบ information avoidance จะว่าไปมันก็ตลกนะ เรามีข้อมูลข่าวสารที่ดี มีประโยชน์ ช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดี เราควรที่จะเปิดรับ ไม่ใช่หลีกเลี่ยง

สสส. พยายามรณรงค์ให้ข้อมูลมากมายเกี่ยวกับตัวเลขผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง เบาหวาน ไต หลอดเลือดหัวใจ ที่ไม่มีวี่แวดว่าจะลดลง 

คำถามคือ เรารับรู้ข้อมูลเหล่านี้หรือไม่?

ถ้าเรารับรู้ แล้วเราฟังหรือไม่?

ถ้าเราฟัง แล้วเราทำอย่างไรกับข้อมูลเหล่านี้?

ถามว่าเรารู้หรือไม่ว่า กินหวาน มัน เค็ม มากเกินไป ไม่ดี … รู้แน่นอน แต่ไม่รู้จะห้ามใจตัวเองไม่ให้กินได้อย่างไร …ทำไงได้ ก็มันอร่อย 555

แล้วเราจะ ‘กินอย่างไรให้อร่อย’ แต่ไม่ทุกข์ภายหลัง 

วิธีที่เราใช้คือทำกับข้าวเอง 

ไม่ต้องบ่อยแบบทำทุกวันก็ได้ เราเข้าใจ มันเหนื่อย ทำบ้าง ไม่ทำบ้าง แต่ก็ดีกว่า ไม่ทำแล้วซื้อกินอย่างเดียว

กับข้าวที่เราทำเองมักอร่อย โดยเฉพาะกับข้าวฝีมือแม่ หรือจากคนที่เรารัก อร่อยเสมอ แม้จะเทียบกับอาหารเหลาไม่ได้ แต่มันอิ่ม…อิ่มทั้งคนกิน…อิ่มทั้งคนทำ…อิ่มใจ

เหตุที่กับข้าวที่เราทำเองมักอร่อย เศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอธิบายความรู้สึกนี้ด้วย Ikea effect ของที่ทำด้วยตัวเอง แม้มันจะไม่ได้ดีเริ่ด แต่มันภูมิใจ กับข้าวที่ทำเองจึงอร่อยเพิ่มขึ้น

การทำกับข้าวกินเอง…

  • ช่วยให้เราเลือกซื้อวัตถุดิบที่ดี เลือกของสดใหม่ หรือผักปลอดภัยมาปรุงอาหาร
  • ช่วยเตือนใจเราว่า รสชาติที่อร่อยของกับข้าวนอกบ้าน ต้องใส่เครื่องปรุงมากเพียงใด
  • ช่วยให้ลิ้นของเราลดการติดรสจัด ลิ้นของเราจะค่อยปรับให้กินรสจัดน้อยลง ทำให้เราติดหวานน้อยลง ติดเค็มน้อยลง และติดของมันน้อยลง

เอ…แล้วข้อมูลที่อ่านกันนี้จะกลายเป็น Information avoidance รึเปล่านะ ^ ^

ณัฐวุฒิ เผ่าทวี ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ความสุข ให้ความเห็นไว้ว่า “การมี “สมองที่เปิด” รับรู้ข้อมูลจากหลายๆด้านนั้น ทั้งข้อมูลที่อาจจะทำให้เราสบายใจและไม่สบายใจเมื่อได้ยิน นับว่าเป็นคุณสมบัติของผู้นำที่ดีไม่ว่าจะเป็นผู้นำของครอบครัว ขององค์กร หรือของสังคมก็ตาม” [1]

เราว่าไม่เพียงแค่ผู้นำ การมี ‘สมองที่เปิด’ เป็นคุณสมบัติที่เราทุกคนควรจะมีและควรฝึกให้เป็นนิสัย ไม่ใช่เพื่อใคร เพื่อตัวเราเองนี่แหละ

#เรื่องดีดีมีให้อ่านทุกวัน

หากเพื่อน ๆ สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

#EatEcon

ที่มา

[1] https://www.facebook.com/nattavudh.powdthavee

[2] Photo by Alex Blăjan on Unsplash