เรื่องหมู หมู ที่ไม่หมู
ปัญหาหมูราคาแพงกลับมาอีกครั้ง ไม่วายที่จะมีการเรียกร้องให้มีการกับกำดูแลจากหน่วยงานที่รัฐผิดชอบ เช่น กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
หากมองในมุมเศรษฐศาสตร์แล้วนั้น การแทรกแซงใด ๆ เป็นการบิดเบือนตลาดทำให้เกิดผลกระทบทั้งทางบวกและทางลบ จึงควรปล่อยให้ มือที่มองไม่เห็น (Invisible hand) หรือ กลไลตลาด ทำงาน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาสักหน่อย ปัญหาราคาหมูแพง ก็จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
สำหรับหมูแพง ในมุมของเราคงต้องบอกว่า การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานดีที่สุด แม้ไม่ทันใจ แต่จะเกิดผลกระทบเชิงลบน้อยที่สุดต่อทุกส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะงบประมาณรัฐที่ต้องใช้ในการแทรกแซง
ว่าด้วย “ราคาหมู” จะมีผู้ที่เกี่ยวข้องโดยตรงคือ เกษตรกร เขียงหมู และผู้บริโภค ซึ่งมีกรมการค้าภายในคอยกำกับดูแล แต่กว่าจะมาเป็นราคาหมูที่ทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกรพยายามไม่ให้ราคาเกิน 80 บาท แต่บางพื้นที่ก็มีการรับซื้อที่มากกว่านั้น ถ้ากำหนดราคาหมูหน้าฟาร์มไม่เกิน 80 บาท/กก. ราคาหมูเนื้อแดงหน้าเขียงจะอยู่ที่ 160 บาท/กก. กรมการค้าภายในก็จะมาดูแลตรงนี้
ก่อนหน้าที่หมูจะปรับตัวเพิ่มขึ้นนี้ ชาวหมูขาดทุนสะสมในช่วง 3 ปีก่อนหน้านี้ ราคาที่ลดลงส่วนหนึ่งมาจากการเทขายหมูเพราะกลัวการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกา (African Swine Fewer :ASF) ขณะที่หลายฟาร์มเพิ่มมาตรการป้องการการระบาดของโรค ทำให้มีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย
หากย้อนกลับไปจะพบว่า ทุกครั้งที่ชาวหมูประสบภาวะขาดทุนสาเหตุหลักมาจากปริมาณหมูล้นตลาด ราคาจะปรับตัวลดลงมากจนขาดทุน เช่นปี พ.ศ. 2543-2546, 2550, 2555 และ 2560-2561 ใครสายป่านไม่ยาวพอ บริหารจัดการไม่ดีก็ต้องเลิกกิจการ คงเหลือแต่มืออาชีพมาจนถึงวันนี้ และเมื่อผู้อ่อนแอแพ้พ่าย ปริมาณหมูค่อยๆ ปรับตัวลดลง ราคาขายหน้าฟาร์มเริ่บขยับปรับตัวสูงขึ้น เป็นวัฎจักร
นี่คือตัวอย่างของการปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน โดยที่รัฐต้องไม่ใช้งบประมาณใด ๆ
ราคาหมูหน้าฟาร์มจะเป็นไปตามกลไกลตลาด ขึ้นกับปริมาณความต้องการของอุปสงค์และอุปทาน หลายครั้งที่ราคาหน้าฟาร์มปรับตัวลดลง แต่ราคาหน้าเขียงไม่ลด คงต้องถามกลับว่า มันยุติธรรมกับชาวหมู และผู้บริโภคหรือไม่???
ประเด็นอยู่ตรงที่ เมื่อเลี้ยงแล้วขาดทุน ชาวหมูก็รับมือ ใครทนพิษบาดแผลไม่ไหว ก็เลิกกิจการ ไปหาอาชีพใหม่ ไม่ได้ร้องขอการช่วยเหลือเยียวยาอย่างจริงจังดังเช่นสินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ
ต้นทุนที่เกิดจากมาตรการป้องกันต่าง ๆ คือสิ่งที่ผู้ประกอบการทุกรายยอมจ่าย บางรายถึงขั้นเลิกผลิตในช่วงระยะเวลาที่มีการระบาดรุนแรง กรณีหมูป่วย มีอาการต้องสงสัยว่าจะเป็น ก็จะทำลายทิ้ง การปลดแม่พันธุ์เร็วกว่ากำหนด เพื่อลดความเสี่ยงและความเสียหายที่จะเกิดขึ้น เพราะหากมีการระบาดจริง เพียงแค่ไม่ถึงสัปดาห์ หมูทั้งฟาร์มจะไม่เหลือ เหลือเพียงหนี้สิน เพราะหมูกินทุกวัน มีค่าใช้จ่ายทุกวัน ต้องใช้ระยะเวลาเลี้ยงประมาณ 4-5 เดือน กว่าจะได้เงิน จากการทำต้นทุนของทางสมาคมผู้เลี้ยงสุกร คิดต้นทุนการผลิตของหมูขุนตั้งแต่เกินจนกระทั่งขายประมาณ 71 บาท/กิโลกรัม
การจัดการฟาร์มหมูแบบเฉียบขาดทำให้ประเทศไทยไม่ประสบปัญหาภาวะขาดแคลนหมูจากโรคระบาดดังเช่น จีน และเวียดนาม ซึ่งปริมาณหมูหายไปมากกว่า 50% ราคาหมูปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 100% ต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีกว่าจะทำให้ปริมาณหมูกลับไปเท่าเดิม
เหตุการณ์นี้ทำให้หมูไทยสามารถส่งออกหมูไปฮ่องกงได้เป็นครั้งแรกในรอบหลายสิบปี นอกจากนี้ยังมีการส่งออกไปยังประเทศเวียดนามด้วยเช่นกัน การส่งออกที่ผ่านมาอยู่ในช่วงล็อคดาวน์ของไทย ชาวหมูไม่ได้รับผลกระทบมากนัก และราคาขายหมูหน้าเขียงก็ไม่ได้แพงมาก
เมื่อการรับมือการระบาดของโควิดอย่างดีเยี่ยมจนเป็นที่ยอมรับ ทำให้การบริโภคหมูในไทยเริ่มกลับมา โรงเรียนเปิดเทอม จนส่งผลให้ราคาหมูปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น ไม่เพียงแต่ราคาเนื้อหมู ราคาไข่ไก่ ไข่เป็ดก็ปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกัน
สิ่งที่ชาวหมูเตรียมใจไว้อีกสิ่งว่าเราไม่อาจหลีกเลี่ยงได้คือ การนำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐ ที่มีความพยายามกดดันไทยทุกวิถีทางให้เราอนุญาตมีการนำเข้า เหตุการณ์โควิด ทำให้เรื่องนี้ยืดระยะเวลาออกไป ตอนนี้ก็นำเข้าเครื่องในเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องไปเบาๆ แบบไม่รู้ตัว
สหรัฐเป็นผู้ส่งออกหมูรายใหญ่ เนื่องจากมีต้นทุนการผลิตที่ต่ำมาก ประมาณ 30 บาทต่อกิโลกรัม เท่ากับว่าต้นทุนการผลิตหมูถูกกว่าเราประมาณครึ่งหนึ่ง แน่นอนว่าการนำเข้ามาเป็นผลดีต่อผู้บริโภค แต่กับผู้ผลิตชาวหมู ถือว่าเป็นฝันร้าย ที่ไม่อยากให้เป็นจริง เพราะมันคือการนับถอยหลังของอาชีพที่สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับประเทศ
หลายคนปฏิเสธคำกล่าวของ นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ ที่ว่า “ขอให้ประชาชนเข้าใจและเห็นใจเกษตรกรที่ต้องเผชิญปัญหาราคาหมูตกต่ำจากผลผลิตล้นตลาดนานกว่า 3 ปี หากเห็นว่าหมูราคาสูงทุกท่านยังมีทางเลือกรับประทานโปรตีนอื่นๆทดแทนได้ ทั้งปลา ไข่ ไก่ …ขอให้กลไกตลาดได้ทำงาน” (FB : สัตว์เศรษฐกิจแมกกาซีน, 17 กรกฎาคม 2563)
แต่เราขอให้อ่านอย่างไม่ใช้อคติ ผู้บริโภคอย่างเราสามารถเลือกได้ เช่น ลดปริมาณการซื้อ หรือเปลี่ยนเป็นเมนูจำพวกปลาก็ดีไม่น้อย ตอนนี้ปลาหลายชนิดราคาถูกมาก เช่น ปลาช่อน แถมเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยมที่เป็นมิตรกับสุขภาพสุดๆ
อดทนกับราคาหมูที่ปรับตัวขึ้นช่วงนี้ สักนิดเพื่อต่อลมหายใจใหักับชาวหมูที่ฝ่าฟันจนรอดวิกฤติโรคระบาดมาได้ เพราะมีหลายฟาร์มเพิ่มกำลังการผลิตในภาวะวิกฤติโรค ASF ขณะนี้กำลังทยอยเข้าสู่ตลาด ประกอบกับช่วงนี้ก็เป็นช่วงที่หมูโตได้ดี เราจึงเชื่อว่าอีกไม่นานก็จะปรับตัวลดลงตามมา
โปรดรอสักนิด ปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน อาจจะดูเหมือนเลือดเย็น ไม่สนใจความเดือดร้อนของผู้บริโภค แต่ได้โปรดเห็นใจผู้ผลิต
“ ‘ความจริง’ บางอย่างพูดไปก็ไม่ดี แต่ไม่พูดก็ไม่ได้!!!
ดังนั้น นักเศรษฐศาสตร์จึงจำเป็นต้อง ‘เลือดเย็น’
(แต่มีหัวใจที่อ่อนโยน)”
Cr. รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ