จะเกิดอะไรขึ้น…ถ้าอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกา

พาดหัวข่าวในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา …สหรัฐฯ ประกาศตัดสิทธิ์ GSP (Generalized System of Preferences) ของไทยเพิ่มเติมคิดเป็นมูลค่า 25,000 ล้านบาท GSP คือ สิทธิพิเศษทางภาษีที่เราเคยได้ลดหย่อน ในการส่งออกสินค้าไทยไปยังสหรัฐฯ ต่อไปเราจะไม่ได้สิทธิ์นั้น แต่เรายังสามารถส่งออกสินค้าได้เหมือนเดิม แค่ต้องเสียภาษีในอัตราปกติ

เนื้อหมู คือสินค้าที่สหรัฐฯ พยายามกดดันไทยมาตลอดหลายปีให้ไทยเราอนุญาตนำเข้าเนื้อหมูสหรัฐฯ

ถามว่า…ทำไม?

แล้ว…ถ้าเรานำเข้ามาแล้วจะเกิดอะไรขึ้น?

คงต้องมองเป็นสองฝั่ง คือ ฝั่งผู้บริโภค และฝั่งผู้ผลิต

ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผู้ที่ได้รับประโยชน์โดยตรงคือ ผู้บริโภค เนื่องจากหมูจากสหรัฐอเมริกามีราคาถูกกว่าเราเกือบ 50% การนำเข้าเนื้อหมูเข้ามาจะทำให้ราคาเนื้อหมูในประเทศลดลง ผู้บริโภคได้ประโยชน์ในภาพรวม แต่ได้กินเนื้อหมูแช่แข็งข้ามน้ำข้ามทะเลมาแรมเดือน

ถ้าเนื้อหมูไทยที่วางขายในตลาด นับตั้งแต่ชำแหระจนไปวางที่เขียงจะมีระยะเวลาไม่เกิน 24 ชั่วโมง ความสดสะอาด ขึ้นอยู่กับมาตรฐานของเขียง หากเป็นหมูที่ขายกันตามตลาดนัด ก็ไม่น่าเกิน 4 ชั่วโมง แม้มาตรฐานยังสู้กับยักษ์ใหญ่ไม่ได้ แต่ความสดใหม่ยักษ์ใหญ่ก็สู้หมูตามตลาดนัดไม่ได้เช่นกัน

แต่หากในแง่ผู้ผลิต การอนุญาตให้นำเข้า อาจนำไปสู่การสูญพันธุ์ของฟาร์มหมู่ไทย คล้ายๆ กับการหายไฟของไร่ถั่วเหลืองที่ประเทศไทยเคยผลิตได้ ปัจจุบันแทบไม่มีใครเลือกปลูก เพราะนำเข้าถูกกว่า

ถามว่า…ทำไมสหรัฐอเมริกาสามารถเลี้ยงหมูได้ถูกขนาดนั้น 

ตอบ…อุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูของสหรัฐ ได้อานิสงส์อาหารสัตว์ราคาถูกจากการอุดหนุนช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง ข้าวโพด ซึ่งเป็นวัตถุสำคัญในการผลิตอาหารหมู ทำให้ต้นทุนอาหารซึ่งคิดเป็น 60-70% ของต้นทุนการผลิต รวมถึงการส่งเสริมให้ใช้เทคโนโลยี การให้เงินช่วยเหลือด้านสิ่งแวดล้อมแก่ฟาร์ม ไม่ได้ช่วยเหลือกันตรงๆ แบบบ้านเรา ต้นทุนการผลิตหมูจึงต่ำกว่าบ้านเรามาก

การอุดหนุนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์จึงก่อให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขันอย่างมาก 

ถามว่า…ทำไมสหรัฐอเมริกาถึงต้องการส่งออกเนื้อหมูและเครื่องใน 

ตอบ…หลักพื้นฐานง่าย ๆ การส่งออกสาเหตุหลักเกิดจากปริมาณหมูที่ผลิตได้เกิดความต้องการบริโภคในประเทศ ทำให้ราคาเนื้อหมูในประเทศลดลง และถูกจนส่งผลรายได้ของที่เกษตรกรได้รับน้อย

และคนอเมริกันไม่กินเครื่องในสัตว์!!!

การอุดหนุนปัจจัยการผลิตทำให้เกษตรกรมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแถบโซนเอเซีย ไม่เพียงปริมาณเนื้อหมูและเครื่องในหมูที่พยายามเพิ่มการส่งออก ปัจจุบันเราก็นำเข้าปัจจัยการผลิตสำคัญคือ ถั่วเหลือง และกากถั่วเหลือง มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์อยู่แล้ว เพราะเราก็ผลิตไม่พอกับความต้องการ

เรียกง่าย ๆ ปัจจัยการผลิตก็อุดหนุนจนเกินความต้องการของการใช้ภายในประเทศต้องส่งออกมาทางโซนเอเซียเช่นเดียวกัน 

ถ้าเรากลับมาดูที่ฟาร์มหมูไทย 

เอาเข้าจริงๆ ผู้ประกอบการฟาร์มหมูทั้งหลายทำใจกันไว้แล้วว่า ไทยไม่อาจต้านทานแรงกดดันจากสหรัฐได้นาน สุดท้ายก็ต้องนำเข้า เรียกว่า ไม่โลกสวย การรับมือก็แตกต่างกันไป

แต่ทางการไทยก็พยายามมาตลอดที่จะไม่นำเข้า

ประเด็นสำคัญที่ใช้เป็นคานงัดสำคัญคือ หมูที่ผลิตในอเมริกา มีการใช้สารเร่งเนื้อแดง (Ractopamine) โดยสารเร่งเนื้อแดงนี้จะตกค้างอยู่ในเนื้อและเครื่องใน

สารเร่งเนื้อแดงถูกห้ามใช้มากว่า 160 ประเทศทั่วโลก ทั้งยุโรป จีน รัสเซีย และไทย แต่มี 27 ประเทศที่อนุญาตให้ใช้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เม็กซิโก ไต้หวัน แคนาดา และสหรัฐอเมริกา โดยจะมีปริมาณที่อนุญาตให้ตกค้างได้ระดับหนึ่ง ซึ่งแต่ละประเทศจะมีเกณฑ์ไม่เท่ากัน 

สำหรับประเทศไทย ห้ามมีการใช้สารเร่งเนื้อแดงนี้มาต้ังแต่ปี 2546 ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 269 เพราะเดิมทีเราก็มีการใช้ในการเลี้ยงหมูและโคเนื้อ เพื่อเพื่อเนื้อแดงและเปอร์เซ็นต์ซาก หมูโตเร็ว ลดจำนวนวันในการขุนนั่นหมายถึงการลดต้นทุนอาหารในการขุนได้

แต่เมื่อมีข้อมูลทางการแพทย์ออกมายืนยันว่า สารเร่งเนื้อแดงส่งผลข้างเคียงต่อระบบหลอดเลือดและหัวใจ ระบบประสาทส่วนกลาง อาการที่เห็นได้ชัด เช่น มือสั่น กล้ามเนื้อกระตุก ปวดศรีษะ หัวใจเต้นเร็วผิดปกติ กระวนกระวาย ซึ่งอันตรายมากในคนท้อง ผู้ป่วยโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และโรคไฮเปอร์ไทยรอยด์

เจ้าสารเร่งเนื้อแดงนี้ไม่ได้มีผลข้างเคียงต่อคนเท่านั้น กับตัวหมูเองก็มีผล เพราะหมูจะมีอาการเครียดง่าย โดยเฉพาะช่วงอากาศร้อน น็อคตายแบบไม่มีสัญญาณบอก สร้างความเสียหายให้ฟาร์มเอง 

ตัวเกษตรกรเองก็ไม่ได้อยากจะใส่เป็นทุนเดิม เพราะไปเพิ่มต้นทุนโดยไม่จำเป็น แถมหมูก็เสียหาย แต่เขียงหมูไม่รับซื้อถ้าเนื้อไม่สวย ขายยาก เพราะลูกค้าไม่ซื้อ ชอบสวย ๆ ไม่มีมัน คำถามจึงย้อนกลับไปที่ผู้บริโภคผู้ซื้อขั้นสุดท้ายว่า ต้องการแบบไหน 

จำได้ว่า ช่วงแรกของการห้ามได้รับแรงต้านทานสูงมาก กรมปศุสัตว์จริงจัง กว่าจะปราบกันได้ใช้เวลาไม่น้อย 

พอสหรัฐอเมริกาใส่เรื่องเนื้อหมูเข้ามาบนโต๊ะเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมปศุสัตว์ไทยแทบกุมขมับ 

คำถามคือ คุ้มกันหรือไม่…กับต้นทุนที่ต้องแลก?

ก่อนจะตัดสินใจว่าคุ้มหรือไม่ ลองอ่านข้อมูลเหล่านี้สักหน่อย

อุตสาหกรรมเลี้ยงหมู มีต้นทุนสำคัญคือ อาหารสัตว์ ซึ่งวัตถุดิบสำคัญคือ ปลายข้าว รำ มันสำปะหลังอัดเม็ด/เส้น ข้าวโพดบด กากถั่วเหลือง 

วัตถุดิบเหล่านี้คือ ผลผลิตพลอยได้ (By Product) ทั้งนั้น ถ้าพูดภาษาชาวบ้าน หมูกินของเหลือทิ้ง ซึ่งของเหลือทิ้งเหล่านี้ เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ราคาผลผลิตหลัก เช่น ข้าว มันสำปะหลัง มีราคาถูกกว่าหากของเหลือเหล่านี้ไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้

เกษตกรขายข้าวเปลือก 1000 กิโลกรัม หรือ 1 ตัน ขายให้โรงสี เมื่อสีเป็นข้าวสารจะได้ประมาณ 660 กิโลกรัม แล้วจะได้ผลพลอยได้เป็น รำหยาบ รำละเอียด ปลายข้าวท่อน ปลายข้าว และแกลบ ซึ่งปัจจุบันนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์เป็นหลัก มีความพยายามจะนำไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้มากกว่าที่เป็นอยู่ แต่ก็ยังไม่สามารถดูดซับผลพลอยได้เหล่านี้ได้มากเท่ากับอุตสาหกรรมอาหารสัตว์

อัตราการสีข้าวเปลือก

หากเรายังไม่สามารถสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรได้มาก หรือนำผลผลิตพลอยได้เหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้ในปริมาณมากเท่ากับอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ การอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกา จะเกิดผลกระทบวงกว้างไปสู่เกษตรกรอีกหลายกลุ่ม เช่น ชาวนา ชาวไร่มันสำปะหลัง และชาวสวนปาล์ม เป็นต้น 

นอกจากนี้ ยังลามไปถึงเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลืองในบราซิล อาร์เจนตินา และแม้แต่สหรัฐอเมริกาเองก็ได้รับแรงกระเพื่อมนี้เช่นกัน เพราะเรานำเข้าถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองจากประเทศเหล่านี้

นั่นหมายถึง การอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูจากสหรัฐอเมริกา ไทยต้องเตรียมรับมือกับภาวะราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำอย่างรุนแรง ไทยต้องเตรียมอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตพลอยได้ทางการเกษตรให้มีความหลากหลาย สร้างมูลค่า ซึ่งแม้จะไม่มีการน้ำเข้าเนื้อหมู เราก็ต้องพัฒนาอุตสาหกรรมแปรรูปผลผลิตทางการเกษตรอยู่แล้ว แต่ต้องเร่งเครื่องให้มากกว่านี้

หากมองแค่ตัวเลขเฉพาะหน้าที่เราเสียหาย 25,000 ล้านบาท จากการที่เราถูกตัดสิทธิ์ GSP และไม่ยอมนำเข้าเนื้อหมู แถมเครื่องในหมู แลกกับความเสียหายที่เรายังไม่ได้ตีมูลค่าจากผลกระทบในภาคเกษตรของไทยหากอนุญาตให้นำเข้า เราว่าไม่น่าจะเสียหายน้อยกว่าแสนล้านบาท 

ถามว่าทำไมเราถึงประเมินตัวเลขหลักแสนล้าน เพราะบ้านเราไม่ได้มีแต่ผู้เลี้ยงหมูรายใหญ่ เรายังมีฟาร์มเล็กฟาร์มน้อยทั่วประเทศ บอกเลยว่าไม่น้อย

ตัวเลขเราอาจจะประเมินเกินจริงก็ได้ แต่ในมุมมองของเรา มันได้ไม่คุ้มเสียจริงๆ ในกรณีนี้ หากคิดจำนวนภาษีที่เราต้องจ่ายเพิ่มจากการดื้อไม่ยอมให้นำเข้า เราจะเสียภาษีเพิ่ม 600 ล้านบาท ดีกว่าให้นำเข้าเนื้อหมูและเครื่องในหมูมาทุ่มตลาดบ้านเรา หักลบแล้ว เราว่า “คุ้ม”  

เพราะตอนนี้ ก็มีปัญหาของการนำเข้าเนื้อวัวภายใต้กรอบของ FTA ก็ยังแก้กันไม่ตก 

หากมีเนื้อหมูนำเข้ามาอีก…เอวังแน่เกษตรกรไทย

เรื่องโดย สุวรรณา สายรวมญาติ

#EatEcon

Photo by Cindie Hansen on Unsplash

สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ด้านล่างเลยค่ะ

2020

Pork farmers put in bid for billions in federal aid

Producers urge government hog purchases, direct payments

By Ellyn Ferguson April 2020

https://www.rollcall.com/2020/04/14/pork-farmers-put-in-bid-for-billions-in-federal-aid/

2019

USDA

https://www.ers.usda.gov/topics/animal-products/hogs-pork/sector-at-a-glance/#Loc3

2018

A $12Billion Program to Help Farmers stung by Trump’s Trade War Has Aide few

By Alan Rappeport

19 November 2018

https://www.nytimes.com/2018/11/19/us/politics/farming-trump-trade-war.html

2012

Hog subsidies and the TPP talks

Ross Korves, Truth About Trade and Technology | Aug 06, 2012

https://www.farmprogress.com/government/hog-subsidies-and-tpp-talks

2001

For Big Hog Farm, Big Subsidies

By John Lancaster

August 17, 2001

https://www.washingtonpost.com/archive/politics/2001/08/17/for-big-hog-farms-big-subsidies/909f27dd-3631-41de-9904-9c7ab44f60e8/