เรื่องด่วนที่สุด ณ วันที่ 13 พฤษภาคม 2565 พาณิชย์อนุญาตให้นำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์ ซึ่งควรด่วนเมื่อมกราคม 2565

เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 คณะกรรมการพิจารณาตรวจสอบการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และวัตถุดิบทดแทน (ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) อนุญาตให้ บริษัท อินเทคค์ ฟีด จำกัด นำเข้าข้าวสาลีจำนวน 710.62 ตัน จากเป้าหมายการนำเข้าที่กำหนดไว้ที่ 1.2 ล้านตัน ซึ่งหลังจากนี้คงมีหลายบริษัททยอยขออนุญาตนำเข้าเพิ่มเติมโดยต้องไม่เกินวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ตามมาตรการโดยไม่ต้องแสดงหลักฐานการรับซื้อข้าวโพด (ในกรณีนำเข้าข้าวสาลี 1 ส่วน ต้องซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ภายในประเทศ 3 ส่วน)

เหตุการณ์นี้ควรเกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปี ก่อนที่ราคาข้าวสาลีจะพุ่งทยานตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 (1)

ภาพที่ 1 ราคาซื้อขายล่วงหน้าข้าวสาลีรายเดือนปี 2001 – May 2022

ที่มา: https://th.investing.com/commodities/us-wheat-streaming-chart

เนื่องจากล่าสุด อินเดีย ผู้ผลิตข้าวสาลีมากเป็นอันดับ 2 ของโลก ได้ออกมาตรการห้ามส่งออกข้าวสาลี มีผลทันทีเมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2565 เช่นเดียวกับวันที่พาณิชย์อนุญาตให้บริษัท อินเทคค์ ฟีด จำกัด นำเข้าข้าวสาลีได้ตามแผนที่เสนอเป็นรายแรก

นับตั้งแต่สงครามรัสเซียยูเครนเริ่มต้น ข้าวธัญพืชอาหารและน้ำมันดิบกลายเป็นหัวใจของสงครามที่ประธานาธิบดีรัสเซีย วลาดิมีร์ ปูติน สามารถใช้ธัญพืช น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติเป็นเบี้ยในเกมหมากรุกทางภูมิรัฐศาสตร์ เนื่องจากข้าวสาลีเป็นส่วนประกอบสำคัญของขนมปัง สำหรับโลกตะวันตก

ข้าวสาลีจึงเป็นส่วนสำคัญทางการเมืองที่จะทำให้รัฐบาลคงอยู่ในอำนาจ และควบคุมมวลชนของรัฐบาลตะวันตก การพุ่งขึ้นของราคาข้าวสาลีหลังสงครามรัสเซียยูเครน ทำให้ราคาข้าวสาลีทำสถิติสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ซึ่งส่งสัญญาณเตือนความอดอยากของประชากรโลกจะทวีความรุนแรงขึ้น (2)

สงครามส่งผลให้ข้าวสาลีและผลผลิตทางการเกษตรอื่นๆ เช่นข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ และพืชผลอื่นๆ ขาดแคลน การส่งออกข้าวสาลีจากสองประเทศนี้ถูกจำกัด คาซัคสถานห้ามส่งออกข้าวสาลีและแป้งสาลี ผู้ซื้อข้าวสาลีทั่วโลกได้หันมาพึ่งข้าวสาลีจากอินเดีย เมื่อความต้องการข้าวสาลีจากอินเดียมากจนทำให้ราคาข้าวสาลีและผลิตภัณฑ์เพิ่มขึ้น 15-20% อย่างรวดเร็วหลังสงครามปะทุ จนกลายเป็นปัจจัยเสริมให้ต้นทุนการผลิตอาหารหลายชนิดรวมถึงราคาอาหารสัตว์มีแนวโน้มที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จนอินเดียต้องออกมาตรการห้ามส่งออกข้าวสาลีในที่สุด

ปัจจุบันสถานะสต็อกธัญพืชอาหารทั้งหมด (The total food grain stocks) ของอินเดียมีปริมาณลดลงสู่ระดับต่ำสุดในรอบ 5 ปี ด้วยปริมาณการส่งออกที่เพิ่มขึ้นมากเกินไปจนทำให้อินเดีย ผู้ซึ่งประกาศตนชัดเจนว่าจะดำเนินนโยบายเพื่อประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ได้ออกมาตรการห้ามส่งออกข้าวสาลี เนื่องจากสต๊อกข้าวสาลีของประเทศ (Food Corporation of India; FCI) ภายใต้พระราชบัญญัติความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติ (the National Food Security Act; NFSA) เหลือเพียง 16.19 ล้านต้น ลดลงเกือบร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งน้อยกว่าความต้องการใช้ประมาณ 10 ล้านตัน ที่จำนวนประมาณ 31 ล้านตัน ยังไม่รวมถึงความต้องการใช้จาก โครงการ Pradhan Mantri Garib Kalyan Anna Yojana (PMGKAY) ซึ่งรัฐบาลอินเดียจะเปลี่ยนจากข้าวสาลีเป็นข้าวแทน เนื่องจากองค์การอาหารแห่งชาติ (FCI) มีสต็อกข้าวประมาณ 33.15 ล้านตัน มากกว่าปริมาณสต๊อกขั้นต่ำซึ่งรัฐบาลอินเดียกำหนดไว้ที่ 13.58 ล้านตัน

สิ่งที่รัฐบาลอินเดียทำเพื่อดูแลความมั่นคงทางอาหารของประชาชนจำนวนมากกว่าพันล้านคนคือ การมีพระราชบัญญัติความมั่นคงด้านอาหารแห่งชาติเป็นเครื่องมือทางกฎหมายร่วมกับการบริหารจัดการสต๊อกธัญพืชสำคัญขององค์การอาหารแห่งชาติ จึงสามารถการออกมาตรการที่ทันท่วงทีต่อสถานการณ์

การบริหารของอินเดียวต่างกับการบริหารจัดการของไทยเสียเหลือเกิน เนื่องการบริหารของไทยต้องรอการประชุมของคณะกรรมการต่างๆ แม้จะตีหนังสือว่าด่วนที่สุด แต่ก็ไม่ควรด่วนจริงดังตราปั๊ม เป็นการบริหารแบบวัวหายล้อมคอก แก้ไขแบบให้ผ่านไปที ไร้ซึ่งความยั่งยืน

มาตรการที่พาณิชย์ไทยชอบทำและทำได้อย่างรวดเร็วคือ มาตรการตรึงราคาผ่านสินค้าควบคุม 18 หมวด (บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารสด อาหารกระป๋อง ข้าวสารถุง น้ำมันพืช น้ำอัดลม นมและผลิตภัณฑ์นม เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ซักล้าง ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ เหล็ก ปูนซีเมนต์ กระดาษ ยา-เวชภัณฑ์และบริการทางการแพทย์ และบริการผ่านห้างค้าปลีกค้าส่ง) ด้วยข้ออ้างปัญหาค่าครองชีพสูงประชาชนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทั้งราคาอาหารและราคาพลังงาน แต่สถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นคือ ราคาสินค้าได้ปรับตัวขึ้นไปก่อนหน้านี้แล้ว ที่สำคัญ ราคาขายที่ปรับขึ้น มักไม่ค่อยปรับลง หากภายหลังต้นทุนการผลิตมีการปรับลดลง

ดังเช่น ราคาหมู ที่ปัจจุบันมีขอร่วมมือจากฟาร์มหมูช่วยตรึงราคารับซื้อสุกรขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มที่ 100 บาท/กก. แต่ราคาซื้อขายจริงได้เกินไปเรียบร้อย และวันที่ 17 พฤษภาคม นี้จะเป็นวันเปิดเทอม ปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ก็จะเพิ่มขึ้น ราคาเนื้อหมูที่ควรจะเป็นจะต้องปรับตัวเพิ่มขึ้นตามกลไก ซึ่งทางโรงเรียนยังคงได้งบประมาณค่าอาหารกลางวันเด็ก (อนุบาล – ป.6) เพียงมื้อละ 21 บาท ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 เด็ก ๆ ในกรุงเทพฯ จะโชคดีหน่อยเนื่องจาก กทม. จัดสรรค่าอาหารกลางวัน (อนุบาล – ม.6) มื้อละ 25 บาท แถมจัดสรรอาหารเช้าให้เด็กนักเรียนในสังกัด อีกคนละ 15 บาท/วัน (3)

คำถามคือ โภชนาการของเด็กที่จะได้รับจะเป็นอย่างไรกับเงินค่าอาหารที่ทางโรงเรียนต้องจัดสรรท่ามกลางราคาวัตถุดิบไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์รวมถึงไข่ที่แพงขึ้น ?

การแก้ปัญหาเรื่องวัตถุดิบอาหารสัตว์เป็นสิ่งที่รัฐต้องให้ความสำคัญในการแก้ปัญหาให้รวดเร็วกว่านี้ เพราะ ข้าวสาลีที่พาณิชย์ไทยจะอนุญาตนำเข้าหลังจากนี้ราคาคงไม่น่าถวิลหานัก และผลของห้ามการส่งออกข้าวสาลีของอินเดีย แม้จะส่งผลให้สถานการณ์ข้าวไทย มีทิศทางที่ดีขึ้น รวมไปถึงข้าวโพดที่ราคาวันนี้ขยับขึ้นมาที่ 13 บาทกว่าไม่ต่างจากข้าวสาลี

เน้นย้ำว่ามาตรการรัฐที่เชื่องช้าไม่ได้ช่วยให้ข้าวโพดราคาลดลงกับซ้ำเติมภาระให้กับผู้ใช้พืชอาหารสัตว์ทั้งเกษตรกรและผู้ผลิตอาหารสัตว์ เช่นเคย เพราะวันนี้ (16 พฤษภาคม 2565) ทั้งผู้เลี้ยงหมู ไก่เนื้อ ไก่ไข่ เป็ด วัวเนื้อ วัวนม และอื่นๆ ได้รับแจ้งกันทั่วหน้าว่า “อาหารสัตว์” ปรับขึ้นทุกชนิด มันช้ำจนกระอัก

และตอนนี้ปัญหาได้ลุกลามจนคาดได้ว่าจะกระทบต่อคุณภาพทางโภชนาการของเด็ก ๆ ที่ควรจะได้รับโปรตีนที่เพียงพอและเหมาะสมต่อพัฒนาการและการเจริญเติบโตของเด็กเรียบร้อยแล้ว

เรื่องโดย ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ

ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร

คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ที่มา

1. https://th.investing.com/commodities/us-wheat-streaming-chart

2. https://th.investing.com/analysis/article-200439783

3. https://www.thansettakij.com/general-news/468046

ภาพโดย Photo by Paz Arando on Unsplash