พฤติกรรมการบริโภคข้าวและปัจจัยกำหนดราคาข้าวในเขตกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษาข้าวไรซ์เบอร์รี่
สุวรรณา สายรวมญาติ
ที่มาและความสำคัญของปัญหา
วิถีชีวิตความเป็นเมืองและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคของคนไทยเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีการดำรงชีวิต ส่งผลให้แนวโน้มความต้องการอาหารปรุงสำเร็จและการรับประทานอาหารนอกบ้านเพิ่มมากขึ้นในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ส่งผลให้มีผลิตภัณฑ์รูปแบบข้าวหุงสุกวางจำหน่ายในท้องตลาดเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคในเขตเมืองทั้งยังช่วยรักษาวัฒนธรรมการบริโภคข้าวคนไทยให้ดำรงอยู่
อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเติมโตของความต้องการอาหารสำเร็จรูปยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี นำมาซึ่งภาวการณ์แข่งขันที่รุนแรง ทำให้ผู้ประกอบการข้าวสารบรรจุถุงต้องให้ความสำคัญ ปรับตัวและพยายามปรับกลยุทธ์สร้างความแตกต่างให้กับสินค้ามากกกว่ากลยุทธ์ทางการตลาด เพื่อสร้างความโดดเด่นให้กับสินค้าในสายตาผู้บริโภค เช่น บรรจุภัณฑ์มีหลายรูปแบบ เครื่องหมายรับรองมาตรฐานต่าง ๆ ชนิดของข้าว ข้อมูลโภชนาการ เป็นต้น
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นข้าวเจ้าที่ได้รับการคัดเลือกและพัฒนาพันธุ์ โดยอภิชาต วรรณวิจิตร และคณะ โดยนำข้าวเจ้าหอมนิลผสมข้ามพันธุ์กับข้าวขาวดอกมะลิ 105 เมื่อปี 2545 แล้วทำการคัดเลือกต้นข้าวดีเด่นจำนวน 7 รุ่นเพื่อให้ได้เมล็ดพันธุ์ที่ให้ผลผลิตดี ต่อมาได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่เมื่อปี 2548 นอกจากนี้ยังมีการวิเคราะห์คุณค่าทางโภชนาการในช่วงปี 2547-2554 ภายใต้โครงการวิจัยเทคโนโลยีชีวภาพในการสร้างพันธุ์ข้าวเพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าสูงซึ่งได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ อย่างไรก็ตาม การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ต้องดูแลเป็นพิเศษ เนื่องจากชอบอากาศเย็น และอ่อนไหวต่อสารเคมี จึงควรปลูกแบบอินทรีย์ ซึ่งเป็นข้อจำกัดประการหนึ่งของการขยายพื้นที่ปลูกข้าวชนิดนี้ ศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้จำหน่ายพันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ให้เกษตรกรและมีการขยายพื้นที่ปลูกอย่างต่อเนื่อง สำหรับผู้บริโภค ถือว่าข้าวสารไรซ์เบอร์รี่ได้รับการตอบรับจากผู้บริโภคเป็นอย่างดีอันเนื่องมาจากคุณสมบัติทางโภชนาการที่โดดเด่น เห็นได้จากการจำหน่ายข้าวไรซ์เบอร์รี่ในปัจจุบัน มีวางจำหน่ายทั่วไป ทั้งรูปแบบข้าวสารและข้าวกล้องมากมายหลายยี่ห้อ ซึ่งส่วนมากจะถูกบรรจุในถุงสุญญากาศขนาด 1 กิโลกรัม นอกจากนี้ ยังมีการจำหน่ายในรูปแบบของข้าวไรซ์เบอร์รี่หุงสุก เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้บริโภคที่ต้องการบริโภคข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่มีข้อจำกัดในการหุงข้าวอีกด้วย
การศึกษาพฤติกรรมการบริโภคข้าวและปัจจัยที่กำหนดราคาข้าวมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งในสถานการณ์ปัจจุบันเพื่อทราบถึงสัดส่วนการบริโภคข้าวขาวและข้าวสีที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นการเติมเต็มองค์ความรู้ด้านข้าวในด้านอุปสงค์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นซึ่งข้อมูลที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้เป็นแนวทางให้ผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค ตลอดจนนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวสามารถใช้ข้อมูลจากผลวิจัยครั้งนี้ในการประเมินผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับผู้บริโภคและสามารถใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาต่อยอดพันธุ์ข้าวต่าง ๆ เพื่อตอบสนองต่อภาคธุรกิจ อาทิเช่น การพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวโภชนาการสูง (ข้าวไรซ์เบอร์รี่) และสามารถเพิ่มทางเลือกให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวได้ในอนาคต ซึ่งสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ของกระทรวงเกษตรกรและสหกรณ์ในการส่งเสริมให้เกษตรกรใช้เมล็ดพันธุ์คุณภาพดีและผลิตข้าวได้มีคุณภาพตามความต้องการของผู้บริโภค นอกจากนี้ ผลการศึกษาพฤติกรรมบริโภคข้าวของผู้บริโภคในเขตเมืองเป็นข้อมูลสำคัญที่กระทรวงสาธารณ์สุขจะได้ทราบสถานการณ์ปัจจุบันของการการบริโภคข้าวในกลุ่มประชากรเขตเมือง สามารถใช้เป็นแนวทางวางกลยุทธ์หรือการรณรงค์รับประทานข้าวโภชนาการสูงเพื่อลดความเสี่ยงของการเป็นโรคกลุ่มที่เกิดจากพฤติกรรม(Non-Communicable diseases: NCDs) เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ได้
วัตถุประสงค์การวิจัย
- เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคข้าวสารของผู้บริโภคในเขตเมือง
- เพื่อศึกษาพฤติกรรมการเลือกซื้อข้าวสารและความต้องการข้าวคุณภาพของผู้บริโภคในเขตเมือง
- เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยทางจิตวิทยาที่มีอิทธิผลต่อการบริโภคข้าวโภชนาการสูง โดยใช้ข้าวไรซ์เบอร์รี่
เป็นกรณีศึกษา
- เพื่อศึกษาคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่กำหนดราคาของข้าวสารบรรจุถุง
- เพื่อวิเคราะห์ปัจจัยคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่มีต่อราคาข้าวสารบรรจุถุง
ระเบียบวิธีวิจัย
การวิจัยนี้เป็นการวิจัยโดยใช้การวิเคราะห์เชิงปริมาณด้วยสถิติเชิงพรรณนา เก็บข้อมูลโดยการสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ และการสัมภาษณ์แบบเจาะจง จากกลุ่มตัวอย่างจำนวน 609 คน ดังต่อไปนี้
- การสุ่มตัวอย่างแบบบังเอิญ เก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างผู้บริโภคข้าวในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 509 คน แบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม โดยสุ่มตัวอย่างจำนวน 60 คนต่อกลุ่ม ในเขตพื้นที่ต่อไปนี้ กลุ่มที่ 1 พื้นที่เขตพระนคร ดุสิต พญาไท ราชเทวี ดินแดง วังทองหลาง ป้อมปราบศัตรูพ่าย กลุ่มที่ 2 พื้นที่เขตปทุมวัน บางรัก สาทร บางคอแหลม ยานนาวา วัฒนา คลองเตย สวนหลวง พระโขนง บางนา กลุ่มที่ 3 พื้นที่เขตดอนเมือง สายไหม หลักสี่ บางเขน บางซื่อ จตุจักร ลาดพร้าว กลุ่มที่ 4 พื้นที่เขตคลองสามวา หนองจอก บึงกุ่ม คันนายาว บางกะปิ สะพานสูง ประเวศ มีนบุรี ลาดกระบัง กลุ่มที่ 5 พื้นที่เขตทวีวัฒนา ตลิ่งชัน บางพลัด บางกอกน้อย บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี จอมทอง กลุ่มที่ 6 พื้นที่เขตหนองแขม บางแค ภาษีเจริญ บางบอน บางขันเทียน ทุ่งครุ ราษฎร์บูรณะ
- การสัมภาษณ์แบบเจาะจงจากผู้บริโภคที่ซื้อข้าวไรเบอร์รี่จากร้านสหโภชน์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ จำนวน 100 คน
ผลการวิจัย
- การศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครใช้ข้อมูลจากการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคข้าวย้อนหลัง 7 วัน พบว่า ผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครยังคงรับประทานข้าวเป็นประจำ (ร้อยละ 85.6) และทำกับข้าวเองเป็นประจำ (ร้อยละ 40) มากกว่าครึ่งของกลุ่มตัวอย่างรับประทานอาหารนอกบ้านในบางครั้ง ค่าใช้จ่ายด้านอาหารเฉลี่ย 7,640 บาท/เดือน เป็นค่าข้าวสารและข้าวหุงสุกเฉลี่ย 820 บาท/เดือน ชนิดข้าวที่นิยมรับประทานมากที่สุด คือ ข้าวหอมมะลิ (ร้อยละ 80.3) รองลงมาคือ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ (ร้อยละ 18.5) ข้าวกล้อง ข้าวหอม ข้าวขาว/ข้าวเสาไห้ คุณลักษณะด้านการหุงที่ชอบมากที่สุดคือ ความนุ่ม รองลงมาคือ ความหอม ทั้งนี้ กลุ่มตัวอย่างเพศชายมีค่าใช้จ่ายด้านอาหารมากกว่ากลุ่มตัวอย่างเพศหญิงประมาณ 300 บาท และกลุ่มตัวอย่างที่ดื่มแอลกอฮอล์มีค่าใช้จ่ายด้านอาหารมากกว่ากลุ่มตัวอย่างที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 260 บาท/เดือน อาจเป็นเพราะกลุ่มที่ดื่มแอลกอฮอล์มีพฤติกรรมรับประทานอาหารนอกบ้านบ่อยกว่ากลุ่มที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์
- การศึกษาพฤติกรรมการเลือกซื้อข้าวสารของผู้บริโภค ใช้ข้อมูลการสำรวจพฤติกรรมการเลือกซื้อข้าวสารบรรจุถุงย้อนหลัง 2 เดือน พบว่า ผู้บริโภคซื้อเฉพาะข้าวขาวร้อยละ 75.7 ซื้อเฉพาะกลุ่มข้าวสีร้อยละ 5.2 และซื้อทั้งข้าวขาวและข้าวสีร้อยละ 19.1 ปัจจัยด้านประชากรศาสตร์ที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกซื้อข้าวสีคือ ระดับการศึกษา และรายได้ โดยผู้บริโภคที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ผู้ที่มีรายได้สูงมีแนวโน้มของการเลือกซื้อข้าวสีมากกว่า โดยผู้บริโภคนิยมซื้อข้าวสารขนาดบรรจุ 5 กิโลกรัม ยกเว้นข้าวไรซ์เบอร์รี่หรือข้าวสีอื่น ๆ จะซื้อขนาดบรรจุ 1 กิโลกรัม โดยซื้อเฉลี่ยประมาณเดือนละ 1 ครั้ง จากห้างค้าปลีกราคาประหยัดใกล้บ้าน เช่น บิ๊กซี เทสโก้โลตัส เป็นต้น เนื่องจากราคาถูก มีโปรโมชั่นของทางห้าง และมีสินค้าหลากหลายให้เลือกซื้อ โดยพิจารณาจากยี่ห้อที่ซื้อประจำเพราะมั่นใจในคุณภาพโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิยี่ห้อที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือ ตราฉัตร รองลงมาคือ หงษ์ทอง เบญจรงค์ และมาบุญครอง ตามลำดับสำหรับข้าวขาวกลุ่มอื่น ผู้บริโภคจะให้ความสำคัญกับ ราคา ในระดับใกล้เคียงกับยี่ห้อ รองลงมาคือ สายพันธุ์ข้าว และลักษณะเฉพาะของข้าว ทั้งนี้ ผู้บริโภคให้ความสำคัญกับฉลากคุณค่าทางโภชนาการและตรารับรองมาตรฐานของข้าวในระดับน้อย สิ่งที่ผู้บริโภคใส่ใจมากที่สุดในการเลือกซื้อข้าวสารคือ ความสะอาดไม่มีมอด ไม่มีกรวด และปัจจัยที่ผู้บริโภคไม่สนใจมากที่สุดคือ ลักษณะกายภาพของข้าว เช่น ความยาวของเมล็ดข้าว สีของเมล็ดข้าว เป็นต้น
- ความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางจิตวิทยาและพฤติกรรมการบริโภคข้าวไรซ์เบอร์รี่ในอนาคตภายใต้กรอบแนวคิดของทฤษฎีปฏิบัติตามแผนด้วยแบบจำลองเชิงโครงสร้าง (Structural Equation modelling: SEM) พบว่า ทัศนคติ กลุ่มอ้างอิง การรับรู้ความสามารถในการควบคุมตนเอง และความตั้งใจมีความสัมพันธ์เชิงบวกต่อแนวโน้มการบริโภคข้าวไรซ์เบอร์รี่ในช่วงหนึ่งเดือนข้างหน้า โดยปัจจัยการรับรู้ความสามารถในการควบคุมตนเองนับเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลทางอ้อมมากที่สุดต่อพฤติกรรมการรับประทานข้าวไรซ์เบอร์รี่ในอนาคตเมื่อเปรียบเทียบกับทัศนคติและอิทธิพลของกลุ่มอ้างอิง ซึ่งชี้ชัดว่าการบริโภคข้าวไรซ์เบอร์รี่เกิดจากความต้องการบริโภคส่วนบุคคลมากกว่าอิทธิพลของปัจจัยภายนอก
- การศึกษาคุณลักษณะของผลิตภัณฑ์ที่กำหนดราคาข้าวสาร โดยสำรวจข้าวสารบรรจุถุงที่วางจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร แล้ววิเคราะห์ด้วยแบบจำลอง Hedonic โดยใช้ข้อมูลการสำรวจผลิตภัณฑ์ข้าวสารบรรจุถุงจากห้างสรรพสินค้า ห้างค้าปลีกราคาประหยัด ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ ตลาดสด และเว็บออนไลน์ของห้างค้าปลีกราคาประหยัด พบว่า ปัจจัยที่มีผลเชิงบวกต่อราคาผลิตภัณฑ์ข้าวสารบรรจุถุง ได้แก่ พันธุ์ข้าว ข้าวสี ข้าวหอม ข้าวอินทรีย์ และจำนวนเครื่องหมายรับรองมาตรฐาน และปัจจัยที่มีผลเชิงลบต่อราคาผลิตภัณฑ์ ได้แก่ ข้าวฤดูกาลใหม่ การผสมข้าวมากกว่าหนึ่งสายพันธุ์ ฉลากโภชนาการ บรรจุภัณฑ์แบบถุงสุญญากาศแบบมีกล่องหุ้มและแบบไม่มีสูญญากาศ ผลิตภัณฑ์ยี่ห้อประเภทสโตร์แบรนด์และยี่ห้อทั่วไป
ข้อเสนอแนะ
- 1. ผู้บริโภคมีการรับรู้ถึงประโยชน์และมีทัศนคติที่ดีต่อข้าวไรซ์เบอร์รี่ซึ่งเป็นข้าวสีที่ได้รับความนิยมมากที่สุดเมื่อเทียบกับข้าวสีสายพันธุ์อื่น อันเป็นผลจากความมั่นใจด้านคุณประโยชน์ทางโภชนาการ ดังนั้นภาครัฐจึงควรเร่งวิจัยคุณสมบัติด้านโภชนาการของข้าวสีและข้าวพื้นเมืองสายพันธุ์อื่น ๆ เพื่อจูงใจผู้บริโภคให้รับประทานข้าวสีและข้าวพื้นเมืองมากยิ่งขึ้น และภาครัฐควรทำความร่วมมือกับห้างค้าปลีกราคาประหยัดจัดกิจกรรมทางการตลาดอย่างสม่ำเสมอเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบถึงประโยชน์ของข้าวสายพันธุ์ต่าง ๆ มากยิ่งขึ้น
- จากผลวิเคราะห์แบบจำลอง Hedonic ผู้บริโภคมีความเต็มใจจ่ายให้กับข้าวพันธุ์พื้นเมือง ข้าวสีสายพันธุ์ต่าง ๆ ซึ่งภาครัฐควรสนับสนุนให้กลุ่มเกษตรกรปลูกข้าวพื้นเมืองและปรับปรุงพันธุ์ที่มีความเหมาะสมกับพื้นที่ โดยเน้นการปลูกแบบอินทรีย์ และกำหนดพื้นที่ปลูกที่เหมาะสมให้ชัดเจนโดยพิจารณาจากคุณสมบัติของดิน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งถ่ายทอดหลักและวิธีการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์เพื่อปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ถูกวิธีให้แก่เกษตรกร และได้พันธุ์ข้าวที่ตรงตามความต้องการของผู้บริโภค ทั้งนี้ การปรับปรุงพันธุ์ข้าวควรพิจารณาความต้องการของผู้บริโภคร่วมด้วย เช่น ข้าวหอม ข้าวนุ่ม ซึ่งจำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมผู้บริโภคเป็นระยะๆ เพื่อให้ทันต่อความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว โดยการทำความร่วมมือกับภาคเอกชน เช่น ห้างสรรพสินค้าราคาประหยัด เพื่อติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค
- พันธุ์ข้าว มีอิทธิพลในการกำหนดราคามากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับคุณลักษณะอื่น โดยเฉพาะกลุ่มข้าวสีนั้นสามารถเพิ่มราคาผลิตภัณฑ์ได้ประมาณ 15 – 20 บาท/กิโลกรัม สะท้อนถึงการยอมรับข้าวสีของผู้บริโภคในกรุงเทพมหานครอันเนื่องมาจากคุณประโยชน์ที่ผู้บริโภคมีการรับรู้ในระดับดี และยังสะท้อนความเต็มใจจ่ายของผู้บริโภคที่มีต่อข้าวสีมากกว่าข้าวขาวอีกด้วย หากแต่ข้อจำกัดประการสำคัญของข้าวสีคือ ความนุ่ม ซึ่งผู้บริโภคให้ความสำคัญประเด็นนี้มากที่สุดในการตัดสินใจเลือกซื้อข้าวสาร และทำให้ผู้บริโภคบางส่วนไม่ชื่นชอบบริโภคข้าวสี ทำให้ข้าวสีเสียเปรียบข้าวขาวโดยเฉพาะข้าวหอมมะลิเป็นอย่างมาก ดังนั้น ภาครัฐควรส่งเสริมให้มีการปรับปรุงและวิจัยพันธุ์ข้าวสีที่มีคุณสมบัตินุ่มและหอม เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคให้มากขึ้น
- ตราเครื่องหมายรับรองมาตรฐานมีความสำคัญในการกำหนดราคาและสามารถสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคได้ ภาครัฐควรเร่งจัดทำมาตรฐานข้าวไรซ์เบอร์รี่และเครื่องหมายรับรองเช่นเดียวกันกับกรณีข้าวหอมมะลิ เนื่องจากมีผู้บริโภคบางส่วนสับสนระหว่างข้าวหอมนิลและข้าวไรซ์เบอร์รี่ เนื่องจากสีใกล้เคียงกันมาก ปัจจุบันผู้บริโภคเลือกซื้อจากคำว่า “ข้าวไรซ์เบอร์รี่” ที่ปรากฏอยู่ที่บรรจุภัณฑ์ ซึ่งพบว่า ข้าวสารไรซ์เบอร์รี่ของแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะสีของข้าวที่มีหลายเฉดสี บางยี่ห้อมีสิ่งเจือปน หลังจากกำหนดมาตรฐานและออกเครื่องหมายรับรองของข้าวไรซ์เบอร์รี่แล้วควรประชาสัมพันธ์ให้ผู้บริโภคทราบ ซึ่งจำเป็นต้องประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความรับรู้และรับทราบโดยทั่วกัน
- ความสะอาดของข้าวเป็นปัจจัยสำคัญที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญ แต่เป็นจุดอ่อนของผู้ประกอบการรายย่อยและกลุ่มสหกรณ์ แม้ว่าผู้บริโภคบางส่วนจะยอมรับกับยี่ห้อเล็ก แต่ยังไม่มากนักผู้ประกอบการรายย่อยจำเป็นต้องควบคุมคุณภาพหลังการเก็บเกี่ยว การสี การบรรจุ และการเก็บรักษาอย่างดี รวมมีระบบตรวจสอบคุณภาพสินค้าทุกขั้นตอน เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ภาครัฐควรสนับสนุนการจัดทำมาตรฐาน GMP ให้แก่กลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนให้ได้มาตรฐานเพื่อยกระดับมาตรฐานและคุณภาพของข้าวสารบรรจุถุงที่ผลิตโดยกลุ่มเกษตรกรหรือกลุ่มวิสาหกิจชุมชนซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้บริโภคอีกทางหนึ่ง
บทสรุปของรายงานการศึกษาวิจัยที่นำเสนอในครั้งนี้ จัดทำโดย นางสาวอัญชลี จวงจันทร์ ตำแหน่งวิทยากรชำนาญการพิเศษ กลุ่มงานวิจัยและพัฒนา สำนักวิชาการ สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร หากท่านผู้ฟังสนใจรายละเอียดเพิ่มเติม สามารถศึกษาค้นคว้าได้จากรายงานการวิจัย เรื่อง “พฤติกรรมการบริโภคข้าวและปัจจัยกำหนดราคาข้าวในเขตกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษาข้าวไรซ์เบอร์รี่” ซึ่งทำการศึกษาโดย ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ
บรรณานุกรม
สุวรรณา สายรวมญาติ. (2562). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์ เรื่อง พฤติกรรมการบริโภคข้าวและปัจจัยกำหนดราคาข้าวในเขตกรุงเทพมหานคร กรณีศึกษาข้าวไรซ์เบอร์รี่. กรุงเทพฯ. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม.