ฤาจะเข้ายุคข้าวยากหมากแพง
จากข้อมูลราคาปุ๋ยฟอสเฟตและยูเรียที่เพิ่มขึ้นมาต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2563 คาดว่าจะอยู่ในระดับสูงในช่วงที่เหลือของปี 2564 และยิงยาวไปถึงปีหน้า 2565 เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ต้นทุนการผลิตพืชอาหารทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีสภาพอากาศที่แปรปรวน สถานการณ์น้ำท่วมในหลายประเทศ ล้วนเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า แนวโน้มราคาอาหารจะเพิ่มสูงขึ้น อัตราเงินเฟ้อของอาหารทั่วโลกจะกลายเป็นหนามทิ่มแทงรัฐบาลทุกประเทศ
ภาพที่ 1 ราคาปุ๋ยฟอสเฟต ยูเรีย และโพแทส ช่วงปี 2018 – 2021
ภาพที่ 2 ราคาแอมโมเนียและกำมะถัน ช่วงมกราคม 2019- พฤษภาคม 2021
ก๊าซธรรมชาติตัวจุดชนวน
การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาปุ๋ยที่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลงเกิดจากปัญหาเนื่องจากสภาพอากาศหนาวเย็นผิดปกติ ราคาก๊าซเหลว หรือ LNG ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปตะวันตกของสหรัฐฯ และในเอเชีย แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในต้นปี 2564 ซึ่งเพิ่มขึ้นจนบริษัทผู้ผลิตปุ๋ยต้องปิดโรงงาน 2 แห่งในอังกฤษ (ก๊าซธรรมชาติเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์ในโตรเจนต่าง ๆ – nitrogen product) และบริษัท Yara International ASA ตัดสินใจลดกำลังการผลิตแอมโมเนีย (หนึ่งในวัตถุดิบในการผลิตปุ๋ย) ในยุโรปลง 40% นอกจากนี้ต้นทุนวัตถุดิบฟอสเฟตสำคัญคือกำมะถันและแอมโมเนียก็ปรับราคาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน
การเมืองระหว่างประเทศ
ปัจจัยการเมืองระหว่างประเทศก็มีส่วนสำคัญ เช่น สหรัฐอเมริกาใช้มาตรการทางภาษีตอบโต้การนำเข้าฟอสเฟตจากโมร็อกโกและรัสเซีย การตอบโต้ลักษณะนี้เกิดขึ้นกับการอุดหนุนการผลิตที่ไม่เป็นธรรมในยูเรียและแอมโมเนียมไนเตรท ยังมีความตึงเครียดทางการเมืองในเบลารุสและรัสเซียอาจทำให้ราคาโปแตชสูงขึ้น แต่นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวดในจีนก็มีอาจทำให้การนำเข้าโปแตชช้าลง และบางมณฑลเช่น Yunnan ออกมาตรการควบคุมการปล่อยมลพิษด้วยการสั่งลดกำลังการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมซึ่งอุตสาหกรรมปุ๋ยก็ไม่รอด ต้องทำตามนโยบายด้วยเช่นกัน ความวุ่นวายเหล่านี้จึงเป็นเหตุให้อุปทานของปุ๋ยหลายชนิดก็ตึงตัวเช่นกัน (Baffes & Wee, 2021)
ราคาปุ๋ยที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นทำให้เกษตรกรบางส่วนเลือกที่จะลดปริมาณการใช้ปุ๋ยหรือลดพื้นที่การผลิตเนื่องจากข้อจำกัดทางการเงิน ไม่เพียงแค่ประเทศไทย สถานการณ์นี้เป็นทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา บราซิล และอาเจนตินา ซึ่งสองประเทศหลังนี้กำลังปวดหัวกับภาวะเงินเฟ้อรุนแรง!!!
การลดปริมาณใช้ปุ๋ยลงของเกษตรกรทั่วโลก แม้ว่าจะลดอุปสงค์ของการใช้ปุ๋ยได้ แต่ก็จะส่งผลต่อปริมาณผลผลิตทางการเกษตรให้ลดลง นั่นหมายถึง อุปทานพืชอาหารจะลดลงนั่นเอง และเมื่ออุปทานลด ราคาอาหารก็จะปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นในที่สุด เพราะฝั่งอุปสงค์ ความต้องการยังคงเพิ่มขึ้น
ล่าสุดคือราคาหมูขุนหน้าฟาร์มเมืองไทยปรับเพิ่มขึ้นทีเดียว 4 บาท !!!
การปรับเพิ่มขึ้นนี้มาจากต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์โดยเฉพาะข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับโรคระบาดในหมูที่ทำให้ฟาร์มรายย่อยต้องเทหมูขายถึงขั้นปิดฟาร์มไม่จำนวนมาก อุปทานหมูขาด
แต่หมูในตู้แช่แข็งที่ผู้แปรรูปทั้งหลายสต๊อกเอาไว้ยังมีนะจ๊ะ รอดูว่าราคาหน้าเขียงจะปรับขึ้นกี่บาท กรมการค้าภายในต้องติดตามสถานการณ์ให้ทันเกม
เมื่อการผลิตตึงตัว การเมืองวุ่นวาย แต่ความต้องการแข็งแกร่ง….ผู้บริโภครับศึกหนักแน่นอน !!!
ด้วยความเป็นห่วงจากทีม #EatEcon
ปล. เทศกาล 10.10 11.11 ที่จะมาถึง ฝากผองเพื่อนคิดให้มากว่าจะ F อะไรนะจ๊ะ ยุคข้าวยากหมากแพง เรื่องปากท้องมันสำคัญ
ที่มา
- Baffes, J. Wee, C. H. 2021. Fertilizer prices expected to stay high over the remainder of https://blogs.worldbank.org/opendata/fertilizer-prices-expected-stay-high-over-remainder-2021?fbclid=IwAR3KAZXHu8lqcMvRRIvEY3RkEHNtF6qEpGnzty73DeA6a5gdRmi4w5SJRNI. Access 1 October 2021.
- https://www.thetimes.co.uk/article/fertiliser-shortage-will-send-food-prices-shooting-up-hx73b3ssc
- https://www.reuters.com/business/energy/yara-brings-ammonia-europe-after-gas-price-hike-ceo-says-2021-09-20/
- https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-09-20/surging-fertilizer-costs-risk-making-food-even-pricier-next-year
- Photo by Annie Spratt on Unsplash