แนวทางฟื้นฟูผู้เลี้ยงสุกรหลังวิกฤต ASF

หลังจากโรค ASF ในสุกร เข้ามาสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจและอุตสาหกรรมการผลิตสุกรของไทยอย่างรุนแรง โดยเฉพาะผู้เลี้ยงรายย่อย รายเล็ก และรายกลาง หลายแห่งตัดสินใจปิดฟาร์ม ส่งผลให้ทำให้ปริมาณสุกรขุนออกสู่ตลาดลดลงสวนทางกับปริมาณความต้องการบริโภคที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการรัฐอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด-19 จนเกิดภาวะราคาหน้าฟาร์มสูงกว่า 100 บาท/กิโลกรัมตั้งแต่ต้นปี 2565 ถึงปัจจุบัน (สิงหาคม 2565)

เพื่อให้ผู้เลี้ยง ผู้ค้า และผู้ที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจในอุตสาหกรรมการผลิตสุกรของไทยผ่านวิกฤตและอยู่รอดได้ต่อไป ทุกภาคส่วนควร “พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส” วางแนวทางฟื้นฟูเกษตรกรผู้เลี้ยงอิสระที่มีศักยภาพให้กลับมาผลิตสุกรได้โดยเร็วตามระบบไบโอซีเคียวริตี้

เมื่อวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในและภายนอกของอุตสาหกรรมการผลิตสุกรไทย พบว่า

จุดแข็ง

  1. เกษตรกรและภาคเอกชนมีความเข้มแข็ง มีประสบการณ์ในการจัดการ เพราะนับตั้งแต่มีรายงานโรค ASF ระบาดที่จีน ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องของไทยได้ดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อป้องกันโรคมาจนถึงปี 64 ที่ต้านต่อไปไม่ไหว
  2. มีผู้เชี่ยวชาญด้านสุกรโดยเฉพาะสัตวแพทย์เป็นที่ยอมรับในระดับโลก หลายบริษัทเป็นที่ปรึกษาและลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งยืนยันได้ถึงความเป็นผู้นำในภูมิภาค

จุดอ่อน ของอุตสากรรมสุกรไทย คือ

  1. ไม่มีฐานข้อมูลระดับฟาร์มสำหรับติดตามสถานการณ์แบบทันท่วงที (Real time)
  2. ฟาร์มมีความหลากหลายและระบบการจัดการที่แตกต่างกัน
  3. มีฟาร์มรายย่อยจำนวนมาก
  4. ฟาร์มรายย่อย รายเล็ก รายกลาง หลายฟาร์มมีพื้นที่จำกัดยากแก่การปฏิบัติตามเงื่อนไขฟาร์มมาตรฐาน GAP
  5. ทำเลที่ตั้งฟาร์มเก่าไม่เอื้อต่อการทำฟาร์มมาตรฐานอยู่ใกล้ชุมชน
  6. ต้นทุนสูง ทั้งจาก ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาหารสัตว์ ไบโอซีเคียวริตี้ การตรวจเชื้อ
  7. ปัจจัยการผลิตหลายชนิดพึ่งพาการนำเข้า เช่น วัตถุดิบอาหารสัตว์ วัคซีน เวชภัณฑ์ แรงงานและเทคโนโลยีต่างๆ
  8. แรงงานส่วนใหญ่ทักษะน้อย ความเข้มข้นในการป้องกันโรคตามระบบไบโอซีเคียวริตี้น้อย
  9. ผู้เลี้ยงบางส่วนยังไม่มีความรู้ความเข้าใจในการจัดการโรค ASF อย่างถูกต้อง
  10. การพัฒนาสายพันธุ์ใหม่ ๆ น้อย
  11. ระบบการเคลื่อนย้ายสุกร ซากและชิ้นส่วนยังได้รับความร่วมมือกับกรมปศุสัตว์ในวงจำกัด
  12. โรงฆ่าสัตว์ที่ได้มาตรฐานมีจำกัด
  13. ขาดการส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาที่จริงจัง เช่น พันธุ์ วัคซีน และอื่นๆ
  14. ห้องปฏิบัติการตรวจเชื้อของรัฐไม่ทั่วถึง ในระดับฟาร์ม ส่วนมากอยู่ในฟาร์มใหญ่
  15. ระบบการชดเชย/ช่วยเหลือผู้เลี้ยงไม่ครอบคลุม และไม่จูงใจสำหรับเกษตรกร
  16. ไม่มีระบบการบริหารจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับโรคระบาด (Risk management)

จากจุดอ่อนข้างต้น ชี้ให้เห็นถึงความเข้มแข็งของภาคปศุสัตว์ไทยที่อยู่ได้จากเกษตรกรไทยมีความเข้มแข็ง แต่วันนี้โรค ASF กำลังทำให้ปศุสัตว์ไทยไปไม่รอด จึงต้องเข้ามาช่วยกัน

โอกาส

  1. เทคโนโลยีการผลิตพัฒนาอย่างรวดเร็วและต้นทุนต่ำลงกว่าในอดีต
  2. แนวโน้มความต้องการเนื้อสัตว์เพิ่มสูงขึ้น
  3. ตลาดต้องการเนื้อสุกรที่มีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น อันเนื่องจากเทรนด์สุขภาพ

อุปสรรค

  1. ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนหรือยารักษาโรค ASF ที่ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการ ทำให้จัดโรคยังคงเป็นโจทย์สำคัญ ส่งผลให้เกษตรกรหลายรายไม่กล้ากลับเข้าเลี้ยง
  2. เงื่อนไขการค้าระหว่างประเทศอันเนื่องจากโรคระบาด
  3. สภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้นและแปรปรวน เอื้อต่อการระบาดของโรค
  4. กฎหมายไม่เอื้อต่อการควบคุมโรคระบาดที่รุนแรง
  5. กฎหมายสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการน้ำเสีย
  6. การจัดเก็บภาษีที่ไม่สอดคล้องกับการดำเนินฟาร์มสุกร
  7. โครงสร้างการบริหารงานของรัฐแยกส่วน
  8. นโยบายควบคุมราคาของรัฐ
  9. งบประมาณและกำลังคนของรัฐมีจำกัดในการยกระดับการผลิตสุกรของเกษตรกรรายเล็กและรายย่อยให้ได้มาตรฐานตามเงื่อนไขของกรมปศุสัตว์

ด้านกลยุทธฟื้นเศรษฐกิจให้คนเลี้ยงสุกร เริ่มจาก

ระยะสั้น

  1. ต้องรักษาระดับราคาหน้าฟาร์มให้มีกำไรจูงใจให้ผู้เลี้ยงกลับมาผลิต และควรกำหนดระดับราคาที่เหมาะสมเมื่อจำเป็นเท่านั้น ไม่บิดเบือนกลไกตลาด โดยราคาที่เหมาะสม คือ “ฟาร์มอยู่รอด ผู้บริโภคอยู่ได้” ซึ่งจำเป็นต้องติดตามต้นทุนการผลิตอย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามสถานการณ์และสามารถกำหนด/ตกลงราคาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้
  2. การสกัดและควบคุมโรค ต้องมีความเข้มข้น ร่วมมือกับองค์กรท้องถิ่น เพิ่มจุดตรวจเชื้อก่อนมีการเคลื่อนย้ายเข้าออกนอกโซนรวมถึงการสุ่มตรวจที่โรงฆ่า
  3. ควรเปลี่ยนเงื่อนไขตามข้อกฎหมายระบบจากเชื้อแล้วทำลายทั้งฟาร์มเป็นตรวจคัดทำลายตัวป่วยให้ชัดเจน ไม่เกิดความสับสนกับเกษตรกร เช่น เมื่อเจอเชื้อไม่จำเป็นต้องปิดฟาร์ม ทำลายเฉพาะสุกรที่ติดเชื้อเท่านั้น สามารถตรวจเชื้อด้วย ATK ซึ่งง่ายกว่าการตรวจแบบ Real PCR โดยภาครัฐต้องอุดหนุนให้ ATK มีราคาถูกลง เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงได้ รวมทั้งต้องเปลี่ยนนโยบายจากการจับทำลายเป็นนโยบายการจูงใจ ทำอย่างไรให้เกษตรกรยอมให้ความร่วมมือในการควบคุมโรค ต้องคัดแยกและจัดการอย่างถูกต้อง
  4. สร้างความเข้าในการใช้ E-movement เพื่อการติดตามการเคลื่อนย้ายสุกร
  5. เร่งชดเชยและเยียวยาให้กับเกษตรกร เพื่อให้มีกระแสเงินสดพร้อมที่จะกลับเข้าเลี้ยง
  6. เร่งจัดทำแนวทางการทำระบบไบโอซีเคียวริตี้ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของฟาร์มแต่ละประเภท
  7. การสื่อสารที่ถูกต้องชัดเจน (Risk communication) ต้องแจ้งจุดพบการระบาดของโรค โดยทำการร่วมกับท้องถิ่นในการทำงาน
  8. เจ้าหน้าที่รัฐต้องปรับเปลี่ยนแนวทางจากการตรวจจับปรับลงโทษ มาเป็นมิตร ขี้แนะ ช่วยเหลือปรับปรุงส่งเสริมและสนับสนุนการเลี้ยง

ระยะกลาง แบ่งเป็น ทางกายภาพ เริ่มจาก

  1. เลือกฟาร์มเป้าหมายขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่มีศักยภาพ
  2. ปรับปรุงฟาร์มให้มีระบบไบโอซีเคียวริตี้ที่เหมาะสมกับเงื่อนไขของฟาร์มแต่ละประเภท ถือเป็นการเปลี่ยนวิกฤตเป็นโอกาสด้วยการทำให้ฟาร์มที่ยังไม่ได้มาตรฐาน ปรับปรุงเข้าสู่มาตรฐาน ยิ่งเป็นฟาร์มที่หยุดเลี้ยงไปยิ่งปรับปรุงได้ง่าย โดยจัดลำดับสิ่งที่ต้องทำตามความสำคัญ เพื่อให้กลับมาเลี้ยงใหม่ได้
  3. ปรับปรุงโรงฆ่าสัตว์ท้องถิ่น เพื่อหากมีปัญหาก็จะมีระยะการเคลื่อนย้ายที่สั้นลง ทางการเงิน 1. ให้เป็นการอุดหนุนบางส่วนในการลงทุนระบบที่จำเป็น โดยมีการติดตามการลงทุน 2. จัดหาสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำและมีระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยอย่างน้อย 2 ปี

ระยะยาว

  1. ต้องเร่งวิจัยและพัฒนาวัคซีนเนื่องจากต้องใช้เวลาในการพัฒนา ประเทศไทยมีศักยภาพเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาวัคซีนได้ เงื่อนไขอุปสรรคข้อกฎหมายควรต้องเร่งแก้ไข ร่วมมือกับภาคเอกชนและภาควิชาการในการพัฒนาและลงทุนโรงงานผลิตวัคซีนให้ทันสมัยและได้มาตรฐานสากล เพราะทุกวันนี้มีองค์ความรู้ และมีศักยภาพในการผลิต แต่ขาดโรงงานในการผลิตจำหน่ายจ่ายแจก แม้ต้องลงทุนไม่ต่ำกว่า 1 พันล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้เข้าประเทศได้ในอนาคต เพราะจำนวนการผลิตสุกรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นมีไม่น้อยกว่า 40 ล้านตัว/ปี ถือว่า มีความคุ้มค่าในการพัฒนา และยังผลิตวัคซีนอื่นๆ ช่วยลดการนำเข้าจากต่างประเทศได้อีกด้วย
  2. ส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาวัตถุดิบอาหารสัตว์ โภชนาการอาหารสัตว์ พันธุ์ เวชภัณฑ์ ยารักษาโรค รวมถึงการจัดการ ที่ต้องอาศัยการสนับสนุนงบประมาณและการวิจัยพัฒนาอย่างจริงจัง
  3. ปรับปรุงโครงสร้างวัตถุดิบอาหารสัตว์ เพื่อให้ต้นทุนแข่งขันได้
  4. ระบบฐานข้อมูลที่จำเป็นต้องทำทั้งอุตสาหกรรมตั้งแต่ต้นน้ำกลางน้ำปลายน้ำ เพื่อตรวจได้ว่า มีปัญหาที่จุดใดและแก้ไขได้ทันที
  5. ปรับปรุงกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการเลี้ยงสุกรอย่างปลอดภัย ทั้งเกณฑ์มาตรฐานฟาร์ม กฎระเบียบ ข้อบังคับ พรบ. ต่าง ๆ ก็ต้องมาพูดคุยกันว่า ในทางปฏิบัติมีอะไรบ้าง
  6. การปรับปรุงโครงสร้างภาษีที่ต้องยอมรับว่า ไม่ได้สอดคล้องกับธรรมชาติของธุรกิจการผลิตสุกร เพราะสุกรมีวงจรกลไกตลาดมีช่วงชาดทุนและกำไร แต่ที่ผ่านมาภาษีเก็บจากรายได้เป็นหลักและมักเป็นแบบเหมาจ่าย ทำให้บางปีแม้ขาดทุนก็ยังต้องเสียภาษี ถือเป็นสิ่งที่ผู้เลี้ยงไม่อยากจ่าย จึงต้องปรับใหม่ เพื่อให้เงินส่วนนั้นมาช่วยในการพัฒนามาตรฐานฟาร์ม หรือกลายเป็นกองทุนช่วยเหลือและเยียวยาในกรณีที่ตกต่ำ เพื่อให้ผู้เลี้ยงได้รับประโยชน์ ช่วยให้เข้มแข็งมากขึ้นในอนาคต

ฟาร์มสุกรเป้าหมาย คือ ฟาร์มรายเล็กขนาด 51-500 ตัว และฟาร์มขนาดกลางที่มีสุกรไม่เกิน 5 พันตัว โดยเฉพาะฟาร์มผู้เลี้ยงอิสระที่เป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาสมดุล ลดการผูกขาดในอุตสาหกรรม เน้นผู้เลี้ยงอิสระให้กลับมาเลี้ยงมากขึ้น เพราะหากมีการแก้ปัญหาที่ดี มีการรักษาระดับราคาทำให้ผู้เลี้ยงกลับมาได้เพิ่มขึ้น จะมีผู้เลี้ยง 2 กลุ่ม คือ กลุ่มเดิม และหน้าใหม่ โดยผู้เลี้ยงกลุ่มเดิมมีทั้งที่ปิดฟาร์มไปแล้ว เจอโรคระบาด อีกส่วนคือ อยู่รอดได้ โดยกลุ่มที่ควรส่งเสริม คือ กลุ่มที่เหลืออยู่ และกลุ่มที่ยังตัดสินใจว่าไม่เลิกเลี้ยง ซึ่งต้องดึงกลุ่มนี้ให้กลับมาได้อย่างแข็งแรง

การช่วยเหลือควรเข้าไปที่รายย่อย รายเล็ก และรายกลาง แต่รายย่อยไม่ควรเร่งรีบ เพราะยังมีข้อจำกัดในการระบบการจัดการ ควรเน้นรายเล็กรายย่อยที่มีความพร้อมก่อน โดยสาเหตุที่ไม่ช่วยรายย่อย เพราะควบคุมยากและมีความพร้อมในการกลับมาเลี้ยงทันที เพราะซื้อหมูขุน 5-10 ตัว ก็เลี้ยงได้แล้ว เพียงราคาจูงใจ แต่ต้องให้กลับมาเมื่อพร้อม คุมโรคได้ แต่กรณีรายเล็กและรายกลาง ความสูญเสียที่รุนแรงในปี 64 ทำให้ขาดความมั่นใจในการกลับมา บางรายก็รอวัคซีนเป็นหลัก หมายความว่า ถ้าวัคซีนไม่มา ก็อาจยังไม่กลับมาเลี้ยง

ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องสร้างความมั่นใจ ช่วยพัฒนาปรับปรุงระบบไบโอซีเคียวริตี้ ผู้เลี้ยงเดิมผู้เลี้ยงใหม่ เมื่อราคาตลาดจูงใจ ย่อมมีคนกลับมาเลี้ยงและรายใหม่เข้ามาแน่นอน และควรพิจารณาแยกผู้เลี้ยงเดิมก่อนว่า มีความพร้อมในการกลับเข้าเลี้ยงหรือไม่ จะปรับปรุงฟาร์มอย่างไร หลายฟาร์มที่ยังปิดฟาร์มอยู่ มีข้อดีที่ปรับปรุงง่าย เพราะไม่มีหมู ทำทำความสะอาด ฆ่าเชื้อและตรวจสอบจนมั่นใจว่า ไม่มีเชื้อหลงเหลืออยู่ ก็สามารถเข้าเลี้ยงได้

ถัดมา คือ ผู้เลี้ยงอิสระ และฟาร์มครบวงจร ซึ่งผู้เลี้ยงอิสระควรเป็นกลุ่มที่ได้รับการสนับสนุนก่อน เพราะถือเป็นผู้เล่นที่สำคัญ ที่มีผลต่อราคาสุกรและเนื้อสุกร มีผลต่ออุปสงค์อุปทาน เพราะหากไม่มีผู้เลี้ยงอิสระในห่วงโซ่การผลิตสุกรก็จะคล้ายกับอเมริกาที่กว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ของเนื้อสุกรอยู่ในบริษัทใหญ่ เพียง 4 ราย ซึ่ง 4 บริษัท นี้มีกำไร 120 เปอร์เซ็นต์ รัฐบาลบอกให้ลดราคาเนื้อสัตว์ก็บอกว่าลดไม่ได้ ต้นทุนอาหารแพง ดังนั้น ผู้เลี้ยงอิสระเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องสนับสนุนให้กลับมาผลิตให้ได้โดยเร็ว

รูปแบบการผลิตสุกรไทย มีทั้ง การผลิตแบบครบวงจร คือ มีแม่พันธุ์ ผลิตลูก และขุน บางส่วนแบ่งขาย อีกส่วนเป็นฟาร์มแม่พันธุ์ผลิตลูกขายอย่างเดียว และผลิตสุกรขุนเพียงอย่างเดียว ดังนั้น การให้สินเชื่อ ในฟาร์มที่ผลิตครบวงจร จำเป็นต้องให้ครบทั้งรอบการผลิต มิฉะนั้น ก็อาจอยู่ไม่ได้ เพราะแม่พันธุ์ 1 ตัว กว่าจะพร้อม ผสม อุ้มท้อง คลอด และเลี้ยงขุน ซึ่งกินเวลานานกว่า 1 วงรอบการบัญชี ดังนั้น การพิจารณาสินเชื่อควรพิจารณาตาม 1 รอบการผลิตของธุรกิจลูกค้า แต่ถ้าเป็นสุกรขุนจะง่ายกว่า เพราะซื้อมา 3-4 เดือน ก็ขาย รอบการผลิตกว่า เงินก็หมุนได้เร็วกว่า จะเป็นทางช่วยเหลือเกษตรกร รวมถึงอาจมีการพิจารณาการปลอดต้น หรือกู้ใหม่ในบางฟาร์ม เพื่อให้อยู่รอด แต่สิ่งที่ต้องเร่งผลิตคือปริมาณแม่พันธุ์ หากไม่สามารถผลิตแม่พันธุ์ให้เพียงพอกับความต้องการและต้นทุนแม่พันธุ์สูงจนเกษตรกรไม่กล้าลงทุน การกลับมาของฟาร์มอิสระก็เป็นไปได้ยากขึ้น

สิ่งสำคัญคือ ความร่วมมือระหว่างกันทั้งเจ้าหน้าที่ภาครัฐและเอกชนร่วมทำระบบสนับสนุนทั้ง องค์ความรู้ในด้านไบโอซีเคียวริตี้ การมีพี่เลี้ยง หรือร่วมมือกันด้านปศุสัตว์ทั้ง สัตวแพทย์ ที่ปรึกษาต่างๆ โดยร่วมกับบริษัทในวงการสุกร ที่ขายอาหารสัตว์ เวชภัณฑ์ หรือเคมีภัณฑ์ เพื่อร่วมกันเข้าไปในความรู้กับเกษตรกรได้อย่างทั่วถึงมากยิ่งขึ้น การปรับปรุงระบบไบโอซีเคียวริตี้ที่อาจเริ่มจากจุดใดที่จำเป็นก็ต้องทำทันที จุดใดที่พอผ่อนผันได้ก็ทำในลำดับถัดไป การสนับสนุนทางการเงิน และการสร้างระบบฐานข้อมูล เพื่อให้ทราบว่า เกษตรกรรายย่อยมีการบริหารจัดการอย่างไร มีกำลังการผลิตเท่าใด มีศักยภาพหรือไม่บางแห่งสามารถยกระดับเป็นวิสาหกิจชุมชน สร้างความเข้มแข็งในระดับพื้นที่ จากการที่เขตปศุสัตว์แบ่งเป็น 9 เขต มีการแบ่งพื้นที่ปศุสัตว์ โดยพื้นที่ที่มีการผลิตสุกรมากที่สุด คือ ภาคตะวันตก แต่ส่วนใหญ่เป็นรายใหญ่ แต่ถ้าเป็นรายย่อยอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะ นครราชสีมา และภาคใต้ ซึ่งหากทราบจำนวนฟาร์มรายย่อยที่เข้าไปให้ข้อมูลความรู้ด้านการจัดการที่ถูกต้อง การให้อาหารที่ดี ก็จะช่วยยกระดับการผลิตสุกรให้กลับมาได้

อีกส่วนที่สำคัญ คือ ตั้งแต่เกิดโรค ASF ก็มีเกษตรกรใช้อาหารสำเร็จรูปมากขึ้น แม้ราคาสูงกว่า การใช้อาหารผสมเอง เพราะช่วยให้อัตราการสูญเสียต่ำ จากเดิมที่ซื้อวัตถุดิบมาผสมเอง จากเดิมเลี้ยง 4 เดือน ก็ขายได้ภายใน 3 เดือน ก็ถือว่า คุ้ม แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจะกลับไปผสมเองอีกหรือไม่ เพราะธุรกิจสุกรแพ้ชนะที่ต้นทุนการผลิต แต่อาหารที่ต้นทุนต่ำกว่า ขึ้นอยู่กับคุณภาพด้วย เพราะการเลือกวัตถุดิบอาหารสัตว์ก็มีผลต่อการผลิตเช่นกัน ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ต้องทำความเข้าใจกับเกษตรกร ด้วยการใช้ข้อมูลเปรียบเทียบที่ชัดเจน เพราะเกษตรกรมักมองที่ต้นทุนเป็นหลัก หากใช้แล้วดี แม้จะแพงขึ้นก็จะเชื่อมากขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันในธุรกิจการผลิตอาหารสำเร็จรูปเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับเกษตรกร

ในหน้าที่ของรัฐ บทบาทสำคัญคงไม่พ้นกรมปศุสัตว์หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนจำเป็นต้องมีความชัดเจน ปรับนโยบายการดำเนินงานให้เหมาะสมกับการจูงใจฟื้นฟูฟาร์ม แม้มีพิกบอร์ดหรือการตั้งจะคณะกรรมาธิการที่ตั้งขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูเพิ่มเติม แต่ไม่ได้มีอำนาจในการดำเนินการหรือแม้แต่งบประมาณในการสนับสนุนเช่นเดียวกับกรมปศุสัตว์ คณะทำงานเหล่านี้สามารถทำได้เพียงเสนอแนะแนวทางแก่หน่วยงานภาครัฐ

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้การควบคุมโรคทำได้ง่ายและได้รับความร่วมมือจากเกษตรกรคือ การมีระบบการช่วยเหลือเกษตรกรที่โปร่งใส จูงใจ ระบบการชดเชยความเสียหายควรรวดเร็วและมีการจัดการที่ทันสมัยโปร่งใส จะช่วยให้เกษตรกรมีเงินทุนปรับปรุงฟาร์ม โดนเน้นอุดหนุนในส่วนที่จำเป็น หรือการลงทุนร่วมกันในลักษณะกองทุน ส่วนการให้แบบปลอดดอกเบี้ยในช่วงแรกอย่างน้อย 2 ปี มีความจำเป็น เพราะมีความเสี่ยงสูงในการกลับเข้าเลี้ยงแล้วเกิดการเสียหาย และปัจจุบันราคาลูกหมูค่อนข้างแพง ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก ต้องใช้เงินลงทุนสูง เกษตรกรรายเล็กและรายกลางต้องชั่งใจอย่างมากในการกลับมา จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องไปช่วยให้ฟาร์มผลิตลูกสุกรกลับมาให้ได้ก่อน แล้วมาส่งเสริมให้กับผู้เลี้ยงสุกรขุนต่อไป

ส่วนการนำเข้าวัตถุดิบก็อาจต้องมีการปรับเปลี่ยนนโยบายสนับสนุนให้ผลิตข้าวโพดมากขึ้น เพื่อลดการนำเข้า รวมถึงการส่งเสริมผลิตข้าวเพื่อเป็นอาหารสัตว์ในพื้นที่ภาคกลาง เพื่อนำมาใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตอาหารสัตว์ ลดการนำเข้าวัตถุดิบอาหารสัตว์จากต่างประเทศ…

ที่มา : สรุปจากการสัมมนา “การจัดการฟาร์มสุกรแนวใหม่สู้ภัย ASF-สถานการณ์ของโรค ASF และผลกระทบ” โดย ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 

Leave a Reply