แนวทางปรับปรุงกฎหมายและมาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของสหกรณ์โคเนื้อ
เรื่องโดย สุวรรณา สายรวมญาติ และศุภธัช ศรีวิพัฒน์
ในอดีตที่ผ่านมาภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมการรวมกลุ่มและการสร้างเครือข่ายของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อทั้งในรูปแบบของวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ หากแต่การดำเนินตามนโยบายที่ผ่านมาไม่มีความต่อเนื่อง ขึ้นอยู่กับกรอบงบประมาณ ไม่มีความยั่งยืน จึงทำให้การส่งเสริมการผลิตโคเนื้อคุณภาพผ่านวิสาหกิจชุมชนและสหกรณ์ยังไม่บรรลุเป้าหมายดังที่คาดหวัง มีสาเหตุหลายประการ หนึ่งในนั้นคือ ข้อกำหนด กฎระเบียบ และมาตรการกฎหมาย รวมทั้งที่ไม่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจสหกรณ์โคเนื้อที่ควรได้รับการแก้ไข ได้แก่
1) พระราชบัญญัติสหกรณ์ มาตรา 33/1 เรื่อง การคุณสมบัติสมาชิกสมทบ ตามประกาศนายทะเบียนสหกรณ์เรื่องความสัมพันธ์ของสมาชิกสมทบกับสหกรณ์หรือสมาชิกสหกรณ์ ทำให้สหกรณ์โคเนื้อไม่สามารถรับเกษตรกรที่อยู่นอกเขตแดนดำเนินงานเข้าเป็นสมาชิกสมทบได้ตามข้อบังคับที่มีอยู่เดิมของสหกรณ์ กฎหมายข้อนี้จึงเป็นการจำกัดสิทธิและเสรีภาพในการประกอบอาชีพตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 40 บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ”
2) กฎหมายเกี่ยวกับการประชุมใหญ่ในปัจจุบันมีความล่าสมัยต่อการดำเนินงานของสหกรณ์โคเนื้อ ซึ่งในปัจจุบันได้มีการแก้ไขสถานการณ์โดยการออกระเบียบชั่วคราวเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้าเพื่อให้สหกรณ์โคเนื้อดำเนินงานไปได้เพียงชั่วคราวเท่านั้น
3) พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2562 มาตรา 33 แบ่งประเภทสหกรณ์ออกเป็น 7 ประเภท โดยมีมาตรการเดียวกันในการดำเนินการเดียวกัน แต่ในทางปฏิบัติการดำเนินการสหกรณ์แต่ละประเภทจะมีความแตกต่างกันตามรูปแบบการดำเนินธุรกิจโดยเฉพาะสหกรณ์ออมทรัพย์กับสหกรณ์การเกษตร
4) พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 และประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดมาตรฐานสินค้าเกษตร: การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อ โดยอาศัยมาตรา 5 มาตรา 15 และมาตรา 16 แห่ง พระราชบัญญัติมาตรฐานสินค้าเกษตร พ.ศ. 2551 กฎหมายกำหนดให้บุคลากร: การจัดการฟาร์มมีสัตวแพทย์ที่มีใบอนุญาตเป็นสัตวแพทย์ผู้ควบคุมฟาร์มโคเนื้อกำกับดูแลด้านสุขภาพโคเนื้อ ตามมาตรา 29 แห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวแพทย์ พ.ศ. 2545 อุปสรรคสำคัญในการบังคับใช้กฎหมายข้อนี้ คือ จำนวนสัตวแพทย์มีไม่เพียงพอต่อการให้บริการและดูแลจัดการฟาร์มมาตรฐาน GAP
5) พระราชบัญญัติวิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. 2565 ให้อำนาจแก่สัตวบาลวิชาชีพในการผลิตสัตว์เลี้ยงและการดูแลจัดการฟาร์มให้สัตว์คุณภาพและมีความปลอดภัย แต่ไม่รวมถึงการประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ตามกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพการสัตวแพทย์ ซึ่งกฎหมายมิได้มีการกำหนดบทบาทและหน้าที่ในกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มโคเนื้อในส่วนของบุคลากร จึงควรกำหนดบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบระหว่างสองวิชาชีพให้ชัดเจน
6) กระบวนการขออนุญาตในการจัดตั้งฟาร์มโคเนื้อ มีกฎหมาย 3 ฉบับ เริ่มจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคต้องขออนุญาตตั้งฟาร์มจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หากทว่าแต่ละท้องถิ่นมีการกำหนดระเบียบวิธีการยื่นขออนุญาตจัดตั้งฟาร์มแตกต่างกัน และการออกใบอนุญาตขึ้นอยู่กับอำนาจดุลยพินิจของผู้บริหารท้องถิ่นก่อให้เกิดความเลื่อมล้ำในการประกอบอาชีพของเกษตรกร
7) พระราชบัญญัติสัตว์พาหนะ พ.ศ. 2482 เป็นกฎหมายอาญา บังคับใช้โดยกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย กำหนดให้ “สัตว์พาหนะ” หมายความว่า ช้าง ม้า โค กระบือ ล่อ ลา ซึ่งได้ทำหรือต้องทำตั๋วรูปพรรณ แต่ปัจจุบัน โค กระบือ เน้นการผลิตเพื่อการบริโภค กฎหมายฉบับนี้จึงไม่เหมาะสมกับสถานการณ์ในปัจจุบัน
8. พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 กำหนดโคเนื้อที่มีอายุมากกว่า 4 เดือนทุกตัวต้องมีเครื่องหมายประจำตัว กฎหมายนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งต่อการจัดการโซ่อุปทานโคเนื้อ สมควรกำหนดให้โคทุกตัวให้มีทะเบียนโดยจัดทำตั้งแต่โคแรกเกิด
เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์โคเนื้อ ควรปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและมาตรการทางกฎหมายข้างต้นให้มีบทบัญญัติที่ยืดหยุ่น ไม่เคร่งครัดจนเกินไป เพื่อให้สหกรณ์โคเนื้อดำเนินธุรกิจได้โดยสะดวกไม่เกิดความลักลั่นในทางปฏิบัติ หรือต้องยกเลิกหลักการบางประการเพื่อให้เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจของสหกรณ์ โดยอาศัยมาตรา 77 วรรคหนึ่ง ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ซึ่งการการศึกษาพบว่า ส่วนหนึ่งของปัญหาและอุปสรรคเกิดจากความซ้ำซ้อนในการปฏิบัติตามกฎหมายที่มีหลายฉบับและมีหน่วยงานบังคับใช้หลายหน่วยงาน จึงควรรวมไว้ในกฎหมายฉบับใดฉบับหนึ่งหรือเพียงหน่วยงานหนึ่ง โดยหน่วยงานที่เหมาะสมในการกำกับดูแลโคเนื้อ คือ กรมปศุสัตว์ โดดยมีแนวทางการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและมาตรการทางกฎหมาย 2 แนวทาง ได้แก่
แนวทางที่ 1 ปรับปรุงประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติ เป็นวิธีที่รวดเร็วและง่ายที่สุด โดยแก้ไขกฎหมายที่เพิ่มเติม ยกเลิก ปรับปรุง ในส่วนของกฎหมายลำดับรองจากพระราชบัญญัติซึ่งเป็นกฎหมายแม่บท เช่น ประกาศนายทะเบียนสหกรณ์ ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือ ประกาศกรมปศุสัตว์ โดยการเพิ่มเติม ปรับปรุง แก้ไขใด ๆ ในรูปแบบประกาศต้องไม่ขัดกับกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ
แนวทางที่ 2 แก้ไขกฎหมายแม่บท เช่น (1) พระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 (2) พระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 และ (3) พระราชบัญญัติสัตวพาหนะ พ.ศ. 2482 ฯลฯ ทั้งนี้ ในบทบัญญัติของพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ต้องลดการให้อำนาจแก่นายทะเบียนสหกรณ์ในบางประการ เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโคเนื้อของไทยได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
อ้างอิง
1. สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2565. สถานการณ์สินค้าเกษตรและแนวโน้ม ปี 2566.
2. สุวรรณา สายรวมญาติ และศุภธัช ศรีวิพัฒน์. 2566. โครงการวิจัยเรื่อง แนวทางการปรับปรุงกฎระเบียบและมาตรการทางกฎหมายเพื่อส่งเสริมการดำเนินงานของสหกรณ์การเกษตรในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโคเนื้อในประเทศไทย สนับสนุนทุนวิจัยโดย สำนักงานคณะการวิจัยแห่งชาติ (วช.)
ขอบคุณภาพจาก ThaiPBS