จำปาดะ อนาคตพืชเศรษฐกิจที่มิอาจมองข้าม
จำปาดะ เป็นผลไม้ประจำจังหวัดสตูล หน้าตาคล้ายขนุน เนื้อสีเหลืองออกส้ม เนื้อนิ่ม กลิ่นแรงกว่าขนุนมากแต่เนื้อบางกว่าขนุน เป็นที่ผลไม้ที่นิยมรับประทานกันในภาคใต้ทั้งในรูปแบบกินสุกแบบผลไม้สดและทอดกรอปคล้ายกล้วยทอดที่เราคุ้นเคย
ผู้เขียนพึ่งมีโอกาสได้ลิ้มรสเมื่อครั้งไปงานแต่งญาติที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี แม้จะเป็นคนไม่รับประทานขนุน แต่พอได้ทานจำปาดะชุบแป้งทอดแล้วต้องยกนิ้วให้ อร่อยเลยค่ะ แต่ก็ใช่ว่าจะหาทานง่าย ราคาขายจำปาดะทอดก็ไม่เบา เม็ดละ 3 – 5 บาท คนขายบอกว่า ปีนี้จำปาดะราคาแพง มีน้อย ปีก่อน ๆ ถูกกว่านี้
นอกจากทานสดและชุบแป้งทอดแล้ว คนใต้ยังนำจำปาดะไปปรุงอาหารคาวหวานหลายชนิด เช่น แกงไตปลา ด้วยเป็นผลไม้ถิ่นของภาคใต้ มีเห็นทั่วไปตามบ้าน จำปาดะปลูกง่าย ตอนนี้จำปาดะเริ่มปลูกในเชิงการค้า ต้นทุนการผลิตต่ำเมื่อเทียบกับทุเรียน เนื่องจากดูแลง่าย โรคและแมลงน้อย แต่ก็ใช่ว่าจะปลูกทิ้งปลูกขว้างแล้วจะได้ผลดี
ความยากของการส่งเสริมให้ผลิตในเชิงพาณิชย์คือ สายพันธุ์ เนื่องจากมีมากมายหลากหลายสายพันธุ์ เช่น ขวัญสตูล ทองตาปาน ดอกจำปา ฯลฯ พันธุ์จำปาดะที่ให้ยุมหนาจะนิยมนำไปชุบแป้งทอด พันธุ์ที่ยุมบางจะเน้นกินสด แต่จะหยิบพันธุ์ไหนมาส่งเสริม คงต้องทดสอบตลาดกันจริงจัง ไม่เช่นนั้นจะล้มทั้งขบวน
ตลาดจำปาดะมีทั้ง ตลาดทานสด ตลาดชุบแป้งทอด และตลาดอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ด้วยอุปทานการผลิตที่น้อยกว่าอุปสงค์ ตลาดอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจึงยังไม่เห็นเป็นรูปธรรม แต่ใช่ว่าตลาดนี้ไม่มี
หากใครดูแคลนว่าตลาดจำปาดะแคบ กินแค่คนใต้ แต่อย่าลืมว่าที่มันแคบเพราะมันถูกลืม ไม่ได้รับการส่งเสริมบริหารจัดการกันจริงจัง ๆ ภาครัฐไม่ค่อยสนใจ ในมุมมองของผู้เขียนเห็นว่าตลาดจำปาดะใหญ่ไม่น้อย ไม่ต่างจากทุเรียนและขนุน มีลูกค้าทั้งมาเลเซีย อินโดนีเซีย และจีน ยังไม่รวมอินเดีย
จะว่าไปแล้ว จำปาดะถือเป็นพืชเศรษฐกิจท้องถิ่นใต้ที่เรียกได้ว่าเป็นพืชที่ “ตลาดนำการผลิต” ที่แท้จริง
เริ่มต้นจากกลุ่มคนกลุ่มเล็ก ๆ ที่เห็นศักยภาพของจำปาดะ ทำตลาดส่งออกไปมาเลเซีย จนปีนี้พ่อค้าจากมาเลเซียมีการสั่งซื้อมากขึ้น เรียกได้ว่าตลาดวิ่งเข้าหาแหล่งผลิต มีเท่าไรรับหมด
หากถามถึงตลาดจีน ก็มีพ่อค้าต้องการ แต่พอผู้รวบรวมเห็นยอดแล้วรีบปฏิเสธแทบไม่ทัน เพราะเยอะมาก ทำไม่ได้แน่ ๆ พ่อค้าไทยจึงมุ่งตลาดมาเลเซียก่อน ทำให้ราคาปีนี้ดีมาก พันธุ์พื้นเมืองซื้อขายกันประมาณกิโลกรัมละ 50 บาทเป็นอย่างน้อย ปีก่อน ๆ ซื้อขายกันลูกละ 20 – 30 บาท แต่กว่าจะเปิดตลาดจำปาดะได้ก็ไม่ง่าย ใช้เวลากันอยู่หลายปี
ช่วงหนึ่งที่ราคายางพาราสูงถึงกิโลกรัมละ 200 บาท ชาวสวนจำนวนไม่น้อยโค่นต้นจำปาดะหันไปปลูกยางพารา ด้วยเหตุที่ราคาจำปาดะที่ซื้อขายกันต่ำเตี้ยเรี่ยดิน แถมได้รายได้ปีละครั้ง ต่างจากยางพาราที่สามารถกรีดน้ำยางมีรายได้เข้ามาเรื่อย ๆ พื้นที่ปลูกจำปาดะจึงลดลงจนแทบไม่เหลือแปลงจำปาดะให้เห็นเท่าไรนัก
ต่อมาจังหวัดสตูลประชาสัมพันธ์จำปาดะให้เป็นที่รู้จัก ชาวสวนทางภาคใต้ก็หันมาปลูกกันมากขึ้น แต่ยังไม่มีการบริหารจัดการอย่างจิงจังเท่าทุเรียน พืชเศรษฐกิจที่อยู่ในทะเลเดือดซึ่งจะเดือดขึ้นเรื่อย ๆ ในปีหน้า
จำปาดะ จึงเป็นอนาคตพืชเศรษฐกิจที่มิอาจมองข้าม ถ้ามีการทำตลาดอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำไปดีตามงบประมาณ หรือนโยบายปาหี่ที่ทำตามกระแส
เรื่องโดย สุวรรณา สายรวมญาติ
#EatEcon