หมูเถื่อน ขบวนการขจัดผู้เลี้ยงหมูตัวเล็กอย่างเลือดเย็น

เรื่องโดย ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เหตุการณ์สูญเสียนายสราวุฒิ ประจวง หัวหน้าด่านกักกันสัตว์เพชรบูรณ์ กรมปศุสัตว์ ถูกยิงเสียชีวิตในขณะปฏิบัติหน้าที่ตรวจสอบห้องเย็น ซึ่งเป็นสถานที่เก็บเนื้อและซากสัตว์เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา สร้างความสลดหดหู่ให้กับเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูและวัวเป็นอย่างมาก หวังว่าการสูญเสียครั้งนี้จะสร้างแรงกระเพื่อมให้ภาครัฐเอาจริงเอาจังกับการปราบปรามการค้าเนื้อสัตว์เถื่อนที่กำลังถอนรากถอนโคนเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูอย่างเลือดเย็น

ปัจจุบันเกษตรกรรายย่อยขายหมูได้จริงในราคา 52 – 54 บาท/กก. ต่ำกว่าราคาประกาศมาก ขณะที่ต้นทุนการผลิตไม่ต่ำกว่า 75 บาท/กก. เรียกได้ว่าขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี ขาดทุนหนักที่สุดในประวัติศาสตร์หมูไทย ยิ่งสองเดือนมานี้รายย่อยตายสนิท รายเล็ก และรายกลางที่ยังสู้ลดทอนจำนวนหมูลงเลี้ยงน้อยตัว เงินทุนหมด รายที่ใช้เงินกู้ ก็กู้กันจนติดเพดานไม่มีค่าอาหารเลี้ยงหมูแล้ว เหตุการณ์เช่นนี้กำลังเกิดขึ้นในกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อเช่นกัน

ที่มา: กรมปศุสัตว์ (2566)

สถานการณ์การค้าเนื้อหมูลักลอบนำเข้าเริ่มในช่วงต้นปี 2565 การค้าขายหมูเถื่อนหลัง ASF เกิดขึ้นต่อเนื่องยาวนานมาจนถึงปัจจุบัน ตลอดปี 2566 สถานการณ์หมูเถื่อนมีมาต่อเนื่องและรุนแรงขึ้นอย่างที่ไม่เคยปรากฏ หาคนผิดไม่ได้จนถึงวันนี้

ปัจจุบันหมูแช่แข็งสต็อกอยู่ในห้องเย็นจนทำให้ธุรกิจห้องเย็นเฟื่องฟูหลังจากที่ซบเซาในช่วงโควิด ขณะที่ฟาร์มขนาดใหญ่ จะเชือดหมูเก็บในห้องเย็นรอเวลาราคาหน้าเขียงขึ้น และผู้แปรรูปก็ซื้อหมูเก็บเข้าห้องเย็นเพื่อบริหารจัดการต้นทุนเช่นกัน เมื่อราคาหน้าฟาร์มตกลงต่อเนื่องยาวนาน ไม่มีวี่แววว่าจะขึ้น หมูในห้องเย็นที่เก็บไว้จึงมีต้นทุนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผสมกับหมูเถื่อน ราคาจึงลงระเนระนาดดังที่เห็น

กรมการค้าภายในดูเหมือนจะนิ่งเฉยกับราคาขายหมูที่ต่ำกว่าต้นทุนไม่น้อยกว่า 2,000 บาท ประกาศแต่ราคาแนะนำที่ไม่สมเหตุสมผลกับผู้ผลิต เพื่อเอาใจผู้บริโภคให้ได้ซื้อหมูถูก

ราคาหมูถูกปีนี้ แต่อนาคตไม่ถูก เพราะค่าของความถูกแลกมาด้วยความมั่นคงทางอาหารในอนาคตที่ต้องจ่ายแพงขึ้นเพราะเมื่อระบบอุตสาหกรรมหมูไทย ไม่มีเกษตรกรรายย่อย รายเล็ก และรายกลาง ไว้คานกับรายใหญ่และมหาใหญ่ที่มีสายปานยาวทนการขาดทุนได้ระดับหลายร้อยล้าน พันล้าน บางรายแม้จะขาดทุนแต่ก็ขยายกำลังการผลิตจนเป็นอีกหนึ่งสาเหตุให้อุปทานหมูในประเทศเพิ่มขึ้นมาซ้ำเติมราคาหมูอีกทางหนึ่ง

จะว่าไปแล้วการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการผลิตหลังการระบาดของ ASF ของฟาร์มรายย่อย รายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ที่เปลี่ยนไปของไทยไม่ต่างจากเวียดนามนัก แต่เวียดนามมีการจัดการที่ดีกว่า เนื่องจากรัฐอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูได้อย่างถูกกฎหมายเพื่อให้อุปทานเนื้อหมูตอบสนองอุปสงค์ในประเทศ ซึ่งเป็นแนวทางที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้เสนอให้มีการนำเข้าอย่างถูกกฎหมายเมื่อต้นปี 2565 แต่แนวทางนี้ไร้การตอบสนอง

ช่วงสิบเดือนแรกของปี 2565 เวียดนามนำเข้าเนื้อหมู 89,000 ตัน ขณะที่ปีนี้ (มกราคม- สิงหาคม 2566) นำเข้าจำนวน 59,340 ตัน จากรัสเซีย 51.68% บราซิล 31.47% ส่วนที่หลือก็มาจากยุโรปเช่น สเปน เบลเยี่ยม เนเธอร์แลนด์ เป็นต้น ราคานำเข้าเฉลี่ย = 2.61 USD or = 95.26 บาท/กก. (คำนวณ ณ อัตราแลกเปลี่ยน 1 USD เท่ากับ 36.5 บาท) ซึ่งปริมาณนำเข้าลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 เมื่อมีการกำกับดูแลเนื้อหมูนำเข้า ปัญหาหมูเถื่อนจึงแตกต่างจากไทยอย่างสิ้นเชิง

ปัจจุบันฟาร์มรายย่อยและรายเล็กของเวียดนามแม้จะลดสัดส่วนเหลือ 30% แต่ฟาร์มเหล่านี้ยังอยู่ได้ และฟาร์มรายย่อยของเวียดนามไม่มีทางหายไปเหมือนไทย แต่พร้อมที่จะกลับมาใหม่ได้เมื่อจังหวะและเวลาเหมาะสมเสมอ หากดูที่ต้นทุน เวียดนามมีต้นทุนการผลิตหมูขุนประมาณ 70 บาท/กก. ขณะที่ราคาขายอยู่ที่ประมาณ 80 บาท/กก. เรียกได้ว่ามีกำไรให้เกษตรกรรายย่อยและรายเล็กกลับมาผลิต

เมื่อกลับมามองประเทศไทย ถ้าสถานการณ์ราคาหน้าฟาร์มเดือนธันวาคม 2566 ถึงเดือนมกราคม 2567 ไม่ดีขึ้น เกษตรกรผู้เลี้ยงจะเผชิญปัญหาหนี้สินแบบล้มทั้งยืน ฟาร์มไปต่อไม่ได้ จะหมดอาชีพล้มหายตายจากอาชีพคนเลี้ยงหมูในที่สุด รูปแบบธุรกิจสุกรของประเทศไทยจะเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง สุดท้ายอุตสาหกรรมหมูไทยจะเดินตามรอยอุตสาหกรรมไก่ เรื่องหมู เนื้อ ไก่ หนังม้วนเดียวกัน ทุกอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดในมือของผู้ที่สามารถควบคุมได้ทั้งห่วงโซ่อุปทาน เมื่อนั้นจะไม่เจอคำว่าหมูถูกให้เห็นอีก

ทั้งนี้ แนวทางการแก้ปัญหาหมูเถื่อนที่ผู้เขียนไม่อยากให้เกิดคือ แนวคิดเปลี่ยนให้หมูเถื่อนที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ให้กลายเป็นหมูนำเข้าถูกกฎหมาย โดยให้เหตุผลว่าเป็นประโยชน์กับผู้บริโภค และผู้ที่ได้ประโยชน์อีกกลุ่มหนึ่งคือ ธุรกิจแปรรูป เช่น ลูกชิ้น แหนม แคปหมู หมูแผ่น ไส้กรอก ฯลฯ ซึ่งกลุ่มนี้ก็ประโยชน์ได้จากการที่มีเนื้อหมูลักลอบนำเข้า ต้นทุนถูกลง ขายได้ราคาเดิม ถ้ามีการอนุญาตให้นำเข้าเนื้อหมูได้ถูกต้อง กลุ่มนี้จะได้ประโยชน์อย่างมาก

ขณะเดียวกัน กระทรวงสาธารณสุข ก็ควรต้องรณรงค์ให้ผู้บริโภคกินหมูสด เนื้อสด ไม่สนับสนุนเนื้อชิ้นส่วนแช่แข็ง กระตุ้นเตือนให้ผู้บริโภคเห็นถึงอันตรายจากหมูเถื่อนเหล่านี้ ทำเช่นนี้ก็มีส่วนช่วยราคาหน้าฟาร์มก็จะขยับขึ้นได้ ใช่ว่าเรื่องหมูเรื่องเนื้อเป็นเรื่องของกรมปศุสัตว์เท่านั้น เนื่องจากเนื้อหมูเมื่อเคลื่อนออกจากโรงเชือดไปที่เขียง ก็เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุขในการกำกับดูแล

วันนี้เราต้องสูญเสียเจ้าหน้าที่รัฐขณะเข้าปฏิบัติหน้าที่ปราบปรามเนื้อเถื่อน ขอให้การสูญเสียครั้งนี้เป็นการกระตุ้นให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องหันมาจัดการของเถื่อนอย่างจริงจัง ขออย่างให้เป็นเพียงหนังสือสั่งการจัดการ การถ่ายภาพจับหมูเถื่อน เนื้อเถื่อนนิดหน่อย ๆ พอเป็นพิธี

ผู้มีส่วนรับผิดชอบต้องจริงจัง เดินตรวจตลาด ตรวจห้องเย็น ตรวจรถควบคุมอุณหภูมิ อย่าปล่อยให้การค้าเนื้อเถื่อนรุนแรงไปกว่านี้ เพราะตั้งแต่มีเรื่องหมูเถื่อนมาตั้งแต่ปี 2565 ยืดยาวมาจนถึงตอนนี้ เจ้าหน้าที่รัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังกระทำผิดมาตรา 157 ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ปล่อยให้เกษตรกรดิ้นรนตามยถากรรม

ผู้เขียนหวังว่าหลังจากการสูญเสียครั้งนี้ จะเห็นข่าวการจับกุมการค้าหมูเถื่อน เนื้อโคเถื่อน เนื้อกระบือเถื่อน ให้อ่านจนเบื่อกันไปข้างหนึ่ง ให้ผู้กระทำผิดรู้ว่าประเทศไทยไม่ใช่บ้านป่าเมืองเถื่อน ที่มีของเถื่อนเกลื่อนตลาด ซื้อง่ายขายคล่องเช่นทุกวันนี้

#EatEcon

Photo by KG Baek on Unsplash