เหตุที่ภาครัฐดูแคลนภาคปศุสัตว์โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร
การดูแคลนภาคปศุสัตว์โดยเฉพาะเกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจได้สะท้อนผ่านอัตราการเจริญเติบโตของ GDP ในปี 2566 เพียงแค่ 1.8% ตามที่สำนักงานเศรษฐกิจการคลังแถลงเมื่อวันที่ 24 มกราคม 2567 ที่ผ่านมา สวนทางกับการคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุไว้ตอนต้นปี 2566 ว่าประเทศไทยจะมีการขยายตัว 2.4% มากกว่าความเป็นจริงไป 0.6%
การคาดการณ์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พลาดเป้า ทำให้หลายฝ่ายเห็นแย้งกับการดำเนินนโยบายของ ธปท. ผู้เขียนจึงเกิดคำถามว่าแบบจำลองที่ใช้พยากรณ์อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้รวมกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคปศุสัตว์ไปด้วยหรือไม่ ถ้ารวม…ภาคปศุสัตว์ถูกให้น้ำหนักในแบบจำลองมากน้อยเพียงใด พิจารณาถึงผลกระทบของประเด็นปัญหาการลักลอบเนื้อหมูเถื่อนหรือไม่?
อัตราการขยายตัวที่ 1.8% ต่ำจนปฏิเสธไม่ได้ว่า ธปท. เหมือนจะดูแคลนผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อันเกิดจากการลักลอบนำเข้าสินค้าปศุสัตว์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหมูเถื่อน โคเนื้อเถื่อน ตีนไก่เถื่อน สารพัดเถื่อนที่เกิดขึ้นสร้างหายนะให้กับเศรษฐกิจไทยเกิดกว่าที่หลายคนคาดคิด เพราะสินค้าเถื่อนเหล่านี้ทำลายกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้เลี้ยงปศุสัตว์โดยเฉพาะหมูและโคเนื้อจนท้อแล้วท้ออีก แล้วจะมีกำลังอะไรไปจับจ่ายใช้สอยกระตุ้นเศรษฐกิจดังหวัง
กว่าหมูเถื่อน จะได้รับการเหลียวแลจากรัฐ เข้มงวด ตรวจจับ ก็นานพอที่จะทำให้ผู้เลี้ยงขาดทุนถ้วนหน้าไม่เว้นกลุ่ม integrated farm หากแต่ฟาร์มขนาดกลางน่าจะหลายไปจากอุตสาหกรรมหมูไทย คงเหลือเพียงผู้เลี้ยงรายย่อยที่มีความคล่องตัวและรายใหญ่ที่มีสายป่านยาวและเข้าถึงสินเชื่อง่าย
ผลการคาดการณ์ของ ธปท. ที่ห่างจากความเป็นจริงดังที่กล่าวมาข้างต้น จึงไม่แปลกที่ภาคธุรกิจและฝากรัฐบาลจะเห็นแย้งกับผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2567 ที่มีมติ 5 ต่อ 2 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ร้อยละ 2.50% ต่อปี โดย 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายร้อยละ 0.25 ต่อปี อย่างน้อยก็ไม่เป็นเอกฉันท์ แสดงว่าเริ่มมีฟังเสียงผู้ได้รับผลกระทบจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากอย่างต่อเนื่องบ้างแล้ว
สถานการณ์อุตสาหกรรมหมูปี 2566 เปรียบเสมือนภาพจำลองในอนาคตหากภาครัฐยอมให้มีการนำเข้าเนื้อหมูอย่างถูกกฎหมายด้วยข้ออ้างผลประโยชน์ของผู้บริโภค โดยมีดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เป็นตัวชี้วัด เนื่องจากรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดที่อิงกับราคาหมูจำนวน 6 รายการคือ หมูเนื้อแดง มันหมูแข็ง ซี่โครงหมู ไส้กรอกหมู กุนเชียง และหมูหยอง เป็นตัวแทนของเนื้อหมูและผลิตภัณฑ์ที่คนไทยนิยมบริโภค CPI กับราคาหมูจึงมีความสัมพันธ์กันค่อนข้างสูงดังภาพที่ 1
ภาพที่ 1 ราคาสุกรหน้าฟาร์มกับดัชนีราคาผู้บริโภคเฉลี่ยรายปี 2541 – 2566
จากภาพที่ 1 จะเห็นว่าช่วงปี 2565 เป็นปีที่ CPI เพิ่มสูงขึ้นมากโดยมีสาเหตุสำคัญมาจากราคาเนื้อสุกรที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการระบาดของโรค ASF หากแต่หลังจากนั้น CPI ก็คงตัวในระดับสูงอันเนื่องจากราคาพลังงานที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ธัญพืชหลายชนิดปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น
แม้ว่าดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) ของไทยเดือนมกราคม 2567 เท่ากับ 106.98 ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลงไปได้ 1.1% สาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน ขณะที่ปัจจัยสำคัญคือกลุ่มอาหารสดที่ยังคงลดลงต่อเนื่อง แต่เดือนกุมภาพันธ์ราคากลุ่มอาหารสดจะปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากปัจจัยเทศกาลตรุษจีน แต่คงสู้เทศกาลปีใหม่ไม่ได้ อัตราเงินเฟ้อของไทยในเดือนกุมภาพันธ และเดือนมีนาคมคงลดต่อเนื่องตามที่ กนง. ต้องการ
ถ้าพิจารณาจากราคาประกาศหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มเมื่อพระที่ 9 กุมภาพันธ์ 2567 อยู่ในช่วง 66 – 76 บาท/ก.ก. โซนเมืองหลวงของหมู ณ ภาคตะวันตก ซื้อขายจริงที่ 66 บาท/ก.ก. และทุกพื้นที่ของประเทศไม่มีที่ใดไปถึงฝั่งฝันที่ 80 บาท/ก.ก. ผู้เลี้ยงหมูทุกคนทราบดีว่าหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร ซึ่งตอนนี้ราคาลูกสุกรขุน (16 ก.ก.) ปรับตัวลงนำไปก่อนแล้ว
สถานการณ์หลังตรุษจีนคงซึมยาวต่อเนื่องไปจนถึงกลางปีจากสถานการณ์หมูล้น เหตุเพราะช่วงหลังการระบาดโรค ASF หลายฟาร์มกลับมาเปิดฟาร์มและบางส่วนขยายฟาร์มโดยไม่ได้คาดคิดว่าหมูเถื่อนจะเข้ามามากมายขนาดนี้ หมูฟาร์มจำนวนไม่น้อยถูกเก็บไว้ในห้องเย็นเพื่อรอราคา ซึ่งยังคงแช่ค้างอยู่ในห้องเย็นชะลอการขาย เดาว่าตรุษจีนที่ผ่านมาไม่น่าจะปล่อยของหมด
นอกจากนี้ สมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยได้คาดการณ์ปริมาณความต้องการใช้อาหารสัตว์ของแม่พันธุ์ ประมาณ 1 ล้านตัน จำนวนปริมาณแม่พันธุ์ที่ฟาร์มใหญ่เร่งขยายก่อนหน้านี้ น่าจะเต็มพิกัดพร้อมผลิตลูกออกมาในปี 2567 ข่าวหมูเถื่อนหลังจากนี้คงเงียบหาย คงมีแต่ข่าวหมูไทยล้นตลาด ด้วยเหตุที่ฟาร์มขนาดใหญ่เร่งขยายกำลังการผลิต สวนทางกับกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ลดลง
แม้กว่า กนง. จะอธิบายว่า “อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มปรับลดลงกว่าที่ประเมินไว้จากปัจจัยด้านอุปทาน ทั้งราคาอาหารสดและราคาพลังงาน รวมทั้งการขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของภาครัฐ ทั้งนี้ อัตราเงินเฟ้อที่ต่ำในปัจจุบันไม่ได้บ่งชี้ถึงอุปสงค์ที่อ่อนแอ โดยราคาสินค้าไม่ได้ปรับลดลงเป็นวงกว้างแต่สะท้อนปัจจัยเฉพาะในบางกลุ่มสินค้า…”
ประเด็นของปี 2567 คงไม่ใช่เรื่องราคาสินค้าแพงเหมือนสองปีก่อนหน้านี้ และราคาหมูคงไม่ตกต่ำตลอดทั้งปีดังเช่นปี 2566 แต่ก็ไม่ได้สวยงามนัก เนื่องจากเหตุปัจจัยสำคัญคือ อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ขึ้นมาต่อเนื่องก่อนหน้านี้ คมดาบสำคัญที่ลดทอนกำลังซื้อของภาคประชาชน โดยเฉพาะ “คนผ่อนบ้าน” ที่ส่วนใหญ่เข้ารอบอัตราดอกเบี้ยลอยตัว เงินงวดส่งเพิ่มขึ้นตามอัตราดอกเบี้ยที่ขึ้น เงินในกระเป๋าเพื่อการจับจ่ายใช้สอยจึงหดหาย ราคาเนื้อหมูแม้จะถูกจนแทบจะขาดทุน ก็ยังถือว่าแพงอยู่ดีกว่าภาระหนี้สินที่มีอยู่ของครัวเรือน
ขณะเดียวกัน การปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย เป็นอีกต้นทุนที่ทางผู้เลี้ยงต้องเผชิญนอกเหนือจากต้นทุน ค่าพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น แม้ค่าอาหารสัตว์จะไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้น แต่ก็ถือว่าคงตัว ไม่ได้ลดลงได้มากนัก ฟาร์มที่มีสัดส่วนเงินกู้มากเพื่อนำมาใช้เป็นทุนหมุนเวียนคงกุมขมับไม่ต่างจากผู้บริโภค
ปี 2566 สินค้าปศุสัตว์เถื่อนเต็มประเทศ ครอบครัวปศุสัตว์มีหนี้สินพอกพูนถ้วนหน้า หน้ามืดคิดอ่านอะไรไม่ออก สุดแสนจะย้อนแย้งกับ 5 รางวัลเลิศรัฐ จากสำนักงาน ก.พ.ร. ให้กับกรมปศุสัตว์เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2566
อีกทั้ง ผลการตรวจสอบการทุจริตต่าง ๆ เงียบหายไปตามเวลา จนถึงวันนี้ยังไม่สามารถดำเนินการกับผู้กระทำผิดได้ จนผู้เลี้ยงหมูถอดใจ หมดสิ้นแล้วความหวัง แล้วเช่นนี้จะหวังให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้อย่างไร เมื่อขบวนการทุจริตคอร์รัปชันคือกลุ่มปลวกขนาดใหญ่ที่กัดเซาะบ่อนทำลายเศรษฐกิจไทย
คงไม่ต้องหวังว่าจะได้กำลังของภาคปศุสัตว์โดยเฉพาะเกษตรกร 3.5 ล้านราย จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จะกระตุ้นอย่างไรก็ไม่ขึ้น หากรัฐบาลยังคงดูแคลนความสำคัญภาคปศุสัตว์เช่นนี้
#EatEcon