ไชน์มัสแคท (Shine Muscat) เพราะฮิตเกินไปจึงกลายเป็นเป้า

องุ่นไชน์มัสแคท “แอร์เมสแห่งวงการองุ่น” เม็ดกลมใหญ่ เนื้อกรอบ รสชาติหวาน มีกลิ่นหอมเฉพาะตัว เนื้อสัมผัสไม่สากกระด้าง เปลือกบาง ไม่มีรสฝาดเมื่อรับประทานเปลือก จึงเป็นองุ่นที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคอย่างมาก

องุ่นไชน์มัสแคท ได้เริ่มต้นการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมาในช่วงปี ค.ศ.1988 (พ.ศ.2523) โดยสถาบันวิจัยด้านการเกษตรในประเทศญี่ปุ่น และใช้เวลานานกว่าสองทศวรรษกว่าจะวางจำหน่ายเชิงพาณิชย์ในปี ค.ศ.2006 (พ.ศ.2549) [1] [2] สะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการวิจัยและพัฒนาของญี่ปุ่น ส่งเสริมการวิจัยอย่างต่อเนื่องตลอดเวลากว่ายี่สิบเพื่อแก้จุดอ่อนขององุ่นหลายข้อที่ทำให้หลายคนปฏิเสธ

ด้วยศักยภาพทางการตลาดขององุ่นไชน์มัสแคทที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค องุ่นสายพันธุ์นี้จึงถูกนำไปปลูกในหลายประเทศในเอเชียและยุโรป แต่การปลูกที่มีคุณภาพสูงยังคงเป็นญี่ปุ่นผู้ริเริ่มพัฒนาเป็นหลัก แต่ผู้ผลิตองุ่นไชน์มัสแคทจากจีนเป็นผู้เปลี่ยนเกมของตลาด ปริมาณการผลิตที่มากจนทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (economy of scale) จนทำให้ราคาถูกกว่าของญี่ปุ่นและเกาหลี ผู้บริโภคส่วนใหญ่เข้าถึงได้ (affordable)

สิ่งหนึ่งที่ต้องทำความเข้าใจคือ ผลไม้ที่ผลิตในเชิงการค้ามีการใช้สารเคมีในการผลิตเสียเป็นส่วนมากไม่เพียงแค่องุ่น สารพัดผลไม้ที่จำหน่ายในท้องตลาดก็มีการใช้สารเคมี เนื่องด้วยผลไม้เป็นอาหารอันโอชะของโรคและแมลงศัตรูพืช ยิ่งหวานอร่อยยิ่งต้องตาต้องใจของเหล่าศัตรูตัวฉกาจ การตรวจพบสารเคมีเกษตรตกค้างในทุกตัวอย่างที่ตรวจจึงไม่แปลกใจ เพราะหากตรวจองุ่นสายพันธุ์อื่น หรือผลไม้ชนิดอื่น ก็คงเจอเช่นกัน

การสุ่มตรวจเพียงเฉพาะองุ่นไชน์มัสแคทเพียง 24 ตัวอย่าง ในกรุงเทพและปริมณฑล [3] จึงดูจะไม่เป็นธรรม ควรสุ่มตรวจองุ่นทุกชนิดที่วางจำหน่ายทั้งที่เข้าและผลิตในประเทศ ตอนนี้องุ่นไชน์มัสแคทจึงกลายเป็นแพะ ผู้บริโภคตื่นตระหนก ทำให้ผู้ค้าปลีกที่นำองุ่นมาจำหน่ายขาดทุนอย่างหนัก การสุ่มตรวจควรสุ่มตรวจที่ผู้นำเข้าหรือด่านชายแดนต่าง ๆ ก่อนเข้าประเทศ หากพบสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานที่กำหนดจะสามารถทำลายสินค้าได้ทันที โดยตัดตอนการกระจายสินค้าตั้งแต่ต้นทาง

ขณะที่ ผู้อำนวยการกองด่านอาหารและยา สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ชี้แจงว่า อย. ได้ตรวจสอบการนำเข้าองุ่นไชน์มัสแคทในปี 2567 พบว่า ตรวจพบสารกำจัดศัตรูพืชตกค้าง ไม่ผ่านมาตรฐาน 4 ตัวอย่าง สารตกค้างที่ Thai-Pan ตรวจพบส่วนใหญ่เป็นสารที่ไม่มีกำหนดในประกาศกระทรวงสาธารณสุข จึงไม่มีปริมาณสูงสุดที่ยอมรับได้ จึงต้องไปใช้ค่า default limit แทน ซึ่งกำหนดค่าไม่เกิน 0.01 ppm ผลตรวจวิเคราะห์สารพิษตกค้างส่วนใหญ่จึงตกมาตรฐาน [4] ข้อมูลนี้แสดงให้เห็นถึงความย้อนแย้งกันของข้อมูลสองฝ่าย

ทั้งนี้ การกำหนดชนิดของสารพิษตกค้างที่ตรวจสอบก็ควรให้เป็นมาตรฐานเช่นกัน คำว่ามาตรฐานนี้คือ ตรวจสารพิษชนิดเดียวกัน ค่ามาตรฐานใช้เกณฑ์เดียวกัน หากตรวจคนละสาร หรือจำนวนการตรวจสารไม่เท่ากัน ก็คุยกันไม่รู้เรื่อง

ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจำเป็นต้องเร่งการกำหนดค่ามาตรฐานสารพิษตกค้างสำหรับสารเคมีกำจัดโรคพืชและศัตรูพืชที่อยู่นอกบัญชีวัตถุอันตรายของประเทศไทยให้ทันต่อการใช้ในปัจจุบัน เพื่อให้การตรวจสอบสารพิษตกค้างก่อนการนำเข้ามาจำหน่าย

สำหรับผู้บริโภคแล้วโปรดอย่าได้ตื่นตะหนกตกใจ โปรดทำใจก่อนว่าผลไม้ที่สวยน่าทานทั้งหลายต้องมีการใช้สารเคมีดูแลมาจนกว่าจะถึงมือท่าน เมื่อท่านซื้อผลไม้มาแล้วผลไม้นั้นอยู่ได้นานเกินจนท่านรู้สึกไม่ปลอดภัย ก็ต้องไม่ลืมว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยวนั้นพัฒนาไปไกลมาก มีการใช้สารเคลือบผิวในผักและผลไม้ เพื่อยืดอายุผักและผลไม้ให้สามารถเก็บได้นานขึ้น [5] แม้แต่ตู้เย็นที่บ้านท่าน หากท่านเก็บในช่องเก็บผักและผลไม้ก็สามารถยืดอายุได้เช่นกัน

สิ่งที่ผู้บริโภคต้องตระหนักคือ อย่ารับประทานซ้ำๆ เพราะการรับประทานซ้ำๆ ก็จะได้รับสารพิษซ้ำๆ  ร่างกายขจัดออกไม่ทัน โปรดเลือกรับประทานให้มีความหลากหลาย และที่สำคัญที่สุด “ล้างให้สะอาด” อย่าได้ไว้ใจ แม้ว่าท่านจะซื้อผักหรือผลไม้ที่เป็นอินทรีย์ ปลอดภัยไว้ก่อนจะดีกว่า

#EatEcon

อ้างอิง

[1] https://www.naro.go.jp/english/about-naro/recent/shine-muscat/index.html

[2] Yamada et al. (2008) New grape cultivar ‘Shine muscat’. Bull. Natl. Inst. Fruit Tree Sci. 7:21-28. link: https://www.naro.go.jp/publicity_report/publication/files/naro-se/fruit7_03.pdf

[3] https://thaipan.org/wp-content/uploads/2024/10/live_friut_present.pdf

[4] https://www.amarintv.com/news/detail/236771

[5] โสรญา รอดประเสริฐ. 2557. สารเคลือบผิวผลไม้ มีประโยชน์อย่างไร. กรมวิทยาศาสตร์บริการ, 62(196): น.41-43.

[6] Shine Muscat Stock photos by Vecteezy