ไม่ต้องนำเข้าเนื้อหมูนอกก็แก้หมูแพงได้ ถ้าช่วยกัน
เรื่องโดย ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
การปรับตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องของราคาหมูขุนมีชีวิตและลูกหมูเล็กมีนัยที่แฝงอยู่ที่ภาครัฐต้องทำความเข้าใจเพื่อออกมาตรการให้สมดุลในการแก้ปัญหาหมูแพงขณะนี้
ราคาหมูแพงในช่วงนี้เป็นผลพวงของความเสียหายจากโรค ASF เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา สังเกตได้จาก การปรับตัวเพิ่มขึ้นของราคาลูกหมูขุนขนาดเล็กมาตั้งแต่เดือนธันวาคม 2567 2,100 บาท เป็น 2,800 บาทในช่วงเดือนเมษายน 2568 (ภาพ 1) แสดงว่าอุปทานหมูขุนหายไปจำนวนหนึ่ง

ตามข้อมูลของคณะกรรมการต้นทุนสุกร ปัจจุบันต้นทุนการผลิตหมูขุนอยู่ที่ 74-77 บาท/กก. บางฟาร์มสามารถบริหารจัดการจัดทุนได้ต่ำกว่า 70 บาท ส่วนต่างขนาดนี้ทำให้บางฟาร์มที่มีความสามารถสูงสามารถจัดการต้นทุนได้ต่ำ ไม่เสียหาย อาจได้กำไรถึง 2,000 บาท/ตัว เรียกได้ว่าถอนทุนคืนกันได้หลายฟาร์ม แต่มันยุติธรรมกับผู้บริโภคหรือไม่
สมาคมฯ เรียกร้องขอให้ผู้บริโภคเห็นใจ ขาดทุนมา 2-3 ปีก่อนหน้าเพราะผลของโรคระบาด ASF และมหกรรมหมูเถื่อน ที่ตอนนี้ก็ยังไม่สามารถดำเนินการใดๆ กับผู้กระทำผิดได้ เรื่องเงียบหลายเข้ากลีบเมฆตามแบบฉบับรัฐไทย เชื่อเถิดว่าสถานการณ์นี้ตอนนี้ ผู้บริโภคไม่เห็นใจ แถมจะเรียกร้องและสนับสนุนให้มีการนำเข้าเนื้อหมู เพราะทนสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ไม่ไหว
ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนเห็นว่า การตรึงราคารับซื้อหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มทั่วประเทศที่ 88 บาท/กก. สูงเกินไป ไม่เป็นผลดีกับทั้งผู้บริโภคและตัวฟาร์มเอง เพราะราคานี้ทำให้ราคาเนื้อแดงหน้าเขียงใกล้ทะลุ 200 บาท/กก. ราคาระดับนี้สูงเพียงพอที่จะทำให้มีการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูจากนอกประเทศ ไม่ต้องไกลถึง USA ใกล้ๆ แค่จีน ก็เพียงพอแล้ว ราคาหมูขุนหน้าฟาร์มแถวยูนานเฉลี่ยประมาณ 68 บาท/กก. ด้วยส่วนต่างของราคาหน้าฟาร์ม 20 บาท/กก. กำไรเห็นๆ

ที่มา: https://www.vetproductsgroup.com
ผู้เขียนเห็นว่า ในช่วงเดือนนี้ ราคาหมูเนื้อแดงหน้าเขียงควรตรึงราคาไว้ที่ 160 บาท/กก. โดยกรมการค้าภายในงัดมาตรการประจำมาใช้ช่วงภาวะหมูแพง
กรมการค้าภายในจัดทำ “โครงการชาวหมูช่วยคนไทย” กำหนดราคาขายปลีกเนื้อแดงที่ 160 บาท/กก. สำหรับชิ้นส่วนอาจมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ความต้องการใช้ เช่น สามชั้น สันคอ เพื่อชดเชยการตรึงราคาเนื้อแดง ซึ่งมีสัดส่วนมากที่สุด ให้ผู้ซื้อได้ตัดสินใจเองว่าจะซื้อชิ้นส่วนใด สิ่งสำคัญคือ ต้องมีวางจำหน่ายในปริมาณที่มากเพียงพอ ไม่ใช่วางปุ๊บหมดปั๊บ
ถามว่าหมูส่วนนี้จะมาจากไหน
ด้วยโครงสร้างสัดส่วนขนาดฟาร์มที่เปลี่ยนไป ประเทศไทยมีสัดส่วนการผลิตเนื้อหมูจากฟาร์มขนาดกลาง-ใหญ่ 75% ฟาร์มขนาดเล็ก 25% หลายฟาร์มใหญ่มี shop เพื่อจัดการโซ่อุปทานของตัวเอง กรมการค้าภายในและสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ สามารถขอความร่วมมือจากผู้ประกอบการรายใหญ่จากฟาร์มขนาดใหญ่ที่มีขนาด 10,000 แม่ขึ้นไป ที่มี Shop เข้าร่วมโครงการได้ เพราะต้นทุนของฟาร์มกลุ่มนี้น่าจะไม่เกิน 70 บาท/กก. จำหน่ายราคาเนื้อแดงที่ 160 บาท ยังมีกำไร ไม่ขาดทุนแน่นอน เพียงแต่ได้กำไรน้อยหน่อย อันที่จริงจังหวะนี้เป็นจังหวะดีที่จะระบายของ ก่อนหน้าฝนจริงจะมา
ฟาร์มที่เข้าร่วมโครงการ กรมการค้าภายในและกรมปศุสัตว์ ต้องประกาศตีฆ้องร้องเปล่าให้ดัง ให้เครดิตฟาร์มที่เสียสละแบ่งหมูขุนมาช่วยประชาชน และยังช่วยการันตีคุณภาพหมูขุนที่จะเข้าร่วมโครงการ สร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคด้วยมาตรฐานปศุสัตว์ OK
หากจะต้องใช้เงินทำโครงการ ก็ไปแงะมาจากเงินจัดเก็บภาษีนำเข้ากากถั่วเหลือง 2% ถ้าไม่มีก็คงต้องถามว่าไปไหนหมด รัฐเก็บค่าต๋งนี้เก็บแล้วถึงเวลาก็ต้องเอามาใช้ ไม่ใช้ละลายไปกับส่วนอื่นหมด
หลังจากนี้อีก 1-2 เดือน ราคาหมูก็จะปรับตัวลดลง เพราะเข้าหน้าฝน ราคาอาจลดลงอย่างฮวบฮาบตามที่เคยเป็น อันเกิดจากฟาร์มแข่งเทขายหมูเพื่อเอาตัวรอด จนเกิดภาวะอุปสงค์เนื้อหมูล้นตลาด และราคาอาจลดลงจนดูไม่จืดถ้าหมูเถื่อนทะลักเข้ามาอีกรอบ และจังหวะนั้น ผู้บริโภคไม่สนใจหรอกว่าเป็นหมูเถื่อนหรือไม่ ขอให้ถูกเป็นใช้ได้ อะไรประหยัดได้ก็ต้องประหยัด สมาคมฯ และผู้เลี้ยงจะใช้ม็อบร้องขอก็ไร้ผล หากยังดึงดันตรึงราคาไว้สูงล่อจะเข้ เพราะมีอีกกลุ่มที่จะอาศัยเหตุการณ์นี้นำเข้าเนื้อหมู ท่านน่าจะทราบดี จะเดินเกมต้องระวัง
ถ้าฟาร์มไหนต้นทุนทะลุ 80 บาท ผู้เขียนขอแนะนำว่าให้ท่านหยุดเข้าเลี้ยง และกลับไปดูคุณภาพสายพันธุ์ อาหาร และการจัดการ หากท่านไม่สามารถจัดการต้นทุนให้ต่ำกว่าราคาต้นทุนอ้างอิงได้ แสดงว่าท่านไม่พร้อมที่จะอยู่ในสมรภูมิหมู เพราะสนามนี้แรง เล่นกันหมดเนื้อหมดตัว คนที่อยู่รอดคือคนที่คุมต้นทุนและคุณภาพได้เท่านั้น
สถานการณ์ปัจจุบัน ผู้บริโภคไม่สามารถอุ้มท่านได้ การบรรเทาต้นทุนการดำรงชีพโดยเฉพาะอาหารการกิน คนซื้อกินอิ่ม นอนหลับ มีแรงคิดฝ่าวิกฤตไปด้วยกัน อย่าเปิดโอกาสนำเข้าหมูนอก เพราะเมื่อนั้นแม้แต่ฟาร์มใหญ่ๆ ท่านก็จะไม่รอดเช่นกัน
#EatEcon