เรื่องกล้วย ๆ
24 มีนาคม 2565
ตื่นเช้ามา…หยิบมือถื…เปิดเฟสบุค…เจอโพสต์ของกรรมกรข่าว
“ยุค กล้วยน้ำว้า ถูกมากๆ ครับ…
กล้วยน้ำว้า ถูกมาก ซื้อจากสวนหวีละ 3 บาท วางขายหวีละ 5 บาท
ที่บริเวณตลาดเกษตรสุวพันธ์ จ.อ่างทอง …”
คิดในใจ และแล้วเหตุการณ์ที่เคยคาดกาณ์ไว้เกิดขึ้น
ถ้าเราดูข้อมูลราคาสินค้าเกษตรจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ที่ตอนนี้ดูเหมือนจะงานเข้าทุกทิศทาง เพราะนโยบาย “เกษตรผลิต พาณิชย์ตลาด” เมื่อราคาสินค้าเกษตรมีราคาถูก เกษตรกรจะเริ่มเปล่งเสียง แต่ถ้าราคาสินค้าเกษตรแพง ผู้บริโภคจะเริ่มเปล่งเสีย แถมเสียงดังกว่าเกษตรกรหลายเท่าเพราะจำนวนผู้บริโภคมีเยอะกว่าจำนวนเกษตรกร
ก่อนหน้านี้ หมูแพง มะนาวแพง เป็นข่าวในหน้าสื่อแบบทุกช่องทาง ณ ตอนนี้ ราคากล้วยถูก แทบไม่เป็นข่าว ถ้าเป็นก็มาแบบเบาๆ เหมือนเสียงกระซิบแล้วไป
ถ้าย้อนมาดูราคากล้วยน้ำว้าตั้งแต่ปี มกราคม 2561 ตามข้อมูลของกรมการค้าภายใน ราคากล้วยน้ำหว้าขายปลีกต่ำสุดจะทรงตัวอยู่ที่ 30 บาท/หวี หลังจากนั้นในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 ราคาก็ลดลงมาเหลือ 25 บาท/หวี ราคาขายส่งจะอยู่ที่ 15 บาท/หวี (ส่วนต่างราคาโดยเฉลี่ยประมาณ 10 บาท/หวี) แน่นอนถ้าย้อนกลับไปที่ราคาหน้าสวนไม่เกิน 10 บาท/หวี (เสียดายที่สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรไม่ได้เก็บข้อมูลกล้วยน้ำว้า มิเช่นนั้นก็จะเปรียบเทียบราคาได้ชัดเจนกว่านี้)
เมื่อราคากล้วยหน้าสวนถูกมากจนไม่คุ้มที่จะขาย ชาวสวนจึงลดกำลังการผลิต ช่วงครึ่งปีหลังของปี 2562 ราคากล้วยน้ำว้าก็ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จนมีข่าวราคากล้วยน้ำว้าแพงในช่วงเดือนกรกฎาคม – สิงหาคม 2563 หลังชาวเน็ตโอดครวญ (มักอ้างอิงราคาขายปลีกจาก Supermarket เช่น ท็อปส์ บิ๊กซี โลตัส ฯลฯ ซึ่งมีทั้งกล้วยน้ำว้าปลอดภัย (ได้รับรอง GAP หรือเครื่องหมาย Q และกล้วยน้ำว้าอินทรีย์ ราคาจะแพงกว่ากล้วยทั่วไป แต่ก็จะตรึงราคาไว้ที่ 65 บาท เนื่องจากมีการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้ากับสวน)
เมื่อผ่านช่วงผลผลิตเข้าสู่ตลาดมากขึ้น ราคาก็ปรับตัวลดลง โดยผลผลิตกล้วยน้ำว้าจะเข้าสู่ตลาดมากในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเดือนเมษายน ราคาจะลดลง และช่วงครึ่งหลังของปีผลผลิตจะออกสู่ตลาดน้อย ราคาจะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นไปตามฤดูกาลปกติ
กล้วย 1 ต้น ให้ผลผลิต 1 เครือ เมื่อให้ผลแล้ว ก็จะตัดต้นทิ้ง ลดอุปทาน ราคาก็จะกลับขึ้นมา
แม้ว่ากล้วยน้ำว้าจะปลูกง่าย มักนิยมปลูกแซมในเลือกสวนไร่นา เนื่องจากไม่ต้องดูแลมาก แต่ก็ต้องการน้ำ ถ้าปีไหนน้ำน้อย หรือแล้ง ผลิตก็จะน้อยตาม แต่ถ้าปีไหนน้ำดี ฝนดี ผลผลิตก็จะมาก ราคาก็จะลดลง กล้วยจึงเป็นตัวอย่างของสินค้าเกษตรไทยที่อิงแอบกับฟ้าฝนเป็นหลัก ความเป็นฤดูกาลจึงมีผลต่อรายได้ของชาวสวนอย่างมาก
คราวนี้มาดูฝั่งคนซื้อกันบ้าง ด้วยสถานการณ์ปัจจุบัน เรียกได้ว่าเป็นยุคที่แพงทั้งแผนดิน ด้วยเหตุของปัจจัยการผลิตทั้งน้ำมัน ปุ๋ย พืชอาหารสัตว์ ที่มีราคาแพงด้วยเหตุของการคลายตัวเรื่องโควิดและภาวะสงครามของรัสเซีย-ยูเครน จนทำให้ต้นทุนการผลิตอาหารแพงทั่วโลก
แต่สินค้าเกษตรอย่างกล้วย ไม่ว่าจะเป็นกล้วยหอม กล้วยไข่ หรือกล้วยน้ำว้า ราคาหน้าสวนไม่ได้ราคาแพงเหมือนสินค้าตัวอื่น ด้วยเหตุที่กล้วยเป็นผลไม้ ที่ไม่ได้สินค้าจำเป็นที่ต้องบริโภค เมื่อกำลังซื้อของผู้บริโภคถดถอย แม้ว่ากล้วยน้ำว้าที่ขายที่ตลาดนัดท้องถิ่นราคา 10 บาท/หวี หรือกล้วยหอมราคา 30 บาท/หวี ยังไม่มีคนซื้อ บอกได้เลยว่าสถานการณ์เศรษฐกิจเช่นนี้น่ากลัวมาก โปรดดูแลเงินในกระเป๋าของท่านให้ดี !!!
บางคนอาจบอกว่า แปรรูป สิ คงต้องบอกว่า ชาวบ้านก่อนหน้าที่ราคาน้ำมันพืชจะแพง ก็แปรรูปกันเป็นปกติ ทั้งกล้วยทอด กล้วยฉาบ สารพัดจะแปรรูป แต่พอน้ำมันแพงก็ หยุด เพราะสู้ต้นทุนไม่ไหว จะเพิ่มราคาคนซื้อก็ไม่สู้ สู้หยุดดีกว่า กล้วยก็ล้นตลาดไปตามระเบียบ
เราจึงอยากมาชวนทานกล้วยกัน กล้วยอะไรก็ได้ที่ชอบ ส่วนตัวเราชอบกล้วยน้ำว้า เพราะไม่หวานมาก ทานลูกหนึ่งอิ่มกำลังดี แถมคุณค่าทางโภชนาการก็ดี กล้วยน้ำว้าจึงเป็นอีกหนึ่งของดีราคาถูกที่เราควรมีติดบ้าน ^ ^
หลายคนอาจมีปัญหาคือ ซื้อมาทั้งหวีแล้วทานไม่ทัน
เราจึงขอเสนอ ซื้อมาแบ่งเพื่อนข้างๆ ค่ะ น้ำใจไมตรีราคามิตรภาพ
นอกจากนี้ อยากเชิญชวนให้แม่ค้าแบ่งขายเป็นแพค ๆ ละ 3 ลูก น่าจะขายได้ง่ายขึ้น เหมือนกล้วยหอมที่ขายในร้านสะดวกซื้อ ทุกวันนี้แบ่งขายเป็นลูก ๆ ละ 9-10 บาท แม้จะขายได้ไม่หมดทั้งหวี
การแบ่งขายเป็นจำนวนน้อย ก็พอจะชดเชยกล้วยบางส่วนที่ขายไม่หมดได้ สำหรับผู้ซื้อ การซื้อทั้งหวีจะคิดมากหน่อย เพราะมักทานไม่ทัน ครั้นจะห่อหนังสือพิมพ์เก็บในตู้เย็นก็นะ หนังสือพิมพ์ก็ไม่ได้ซื้อกันไว้เหมือนอดีต ตู้เย็นก็ไม่มีที่จะใส่ แถมจะหิ้ว…ก็หนัก
การแบ่งขายก็จะช่วยให้ผู้ซื้ออย่างเราตัดสินใจง่ายขึ้น ใช้เงินซื้อน้อยกว่าทั้งหวี ไม่ต้องรู้สึกเสียดายเมื่อต้องทิ้งเพราะกินไม่หมด
ยิ่งยุคข้าวยากหมากแพงเช่นนี้แล้ว เงินแต่ละบาทจะออกจากกระเป๋าต้องคิดให้มาก ^ ^
#EatEcon
อ้างอิง
กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์. (2565) . ข้อมูลราคาสินค้าเกษตร.https://data.moc.go.th/OpenData/GISProductPrice? สืบค้นเมื่อ 24 มีนาคม 2565.
ขอบคุณภาพจาก eak_kkk https://pixabay.com/