รัฐต้องทำอะไรเพื่อช่วยคนเลี้ยงหมูให้รอดในปี 2566
เรื่องโดย ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ ภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
สถานการณ์คนเลี้ยงหมูปี 2566 ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากวัตถุดิบอาหารสัตว์มีราคาแพงมาก ปัจจุบันกากถั่วเหลือง 23.40 บาท/กก. ข้าวโพดหน้าโรงงาน 13.40 บาท/กก. (ชาวไร่ข้าวโพดขายได้ 9.50 บาท/กก.) ปลายข้าว 14.20 บาท/กก. ต้นทุนการผลิตที่คณะอนุกรรมการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสุกรกรณีซื้อลูกหมูมาเลี้ยงขุนเท่ากับ 101 บาท/กก. แต่ช่วงตรุษจีนราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มซื้อขายกันที่ 98-102 บาท/กก. [1] เท่ากับว่าตอนนี้คนเลี้ยงหมูไม่มีกำไร T_T
หลังจากนี้บอกเลยว่า ปีนี้คนเลี้ยงหมูเหนื่อย!!!
ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั้งข้าวโพดและกากถั่วเหลืองยังคงเป็นหอกคอยทิ่มแทงคนเลี้ยงหมู เนื่องจากประเทศไทยเราผลิตข้าวโพดได้เพียง 40% ต้องนำเข้า 60% ปีนี้ก็ยังคงเป็นปัญหา เพราะนโยบายรัฐที่ไร้การวางแผนเกี่ยวกับการนำเข้าข้าวโพด ยังคงใช้มาตรการควบคุมการนำเข้าข้าวสาลี 3 : 1 ซึ่งรัฐไม่ควรกำหนดโควตาการนำเข้า แต่ควรดูปริมาณการผลิตข้าวโพดภายในประเทศในปีนี้และอนุญาตให้นำเข้าไม่เกินปริมาณส่วนขาด ทางเศรษฐศาสตร์เรียกว่า อุปสงค์ส่วนขาด ไม่จำเป็นต้องกำหนดโควตาแต่อย่างใด เพียงแต่กำหนดเพดานการนำเข้า พิจารณาช่วงนำเข้าที่เหมาะสม ไม่ให้กระทบต่อช่วงข้าวโพดไทยที่ออกสู่ตลาด สิ่งเหล่านี้ต้องวางแผน ต้องทำตั้งแต่ต้นปี
นอกจากนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ควรสร้างความร่วมมือในการจัดหาพืชอาหารสัตว์ โดยเฉพาะข้าวโพด ปลายข้าว รำข้าว มันสำปะหลัง เพื่อให้รายย่อยผสมอาหารสัตว์ใช้กันเองภายในกลุ่มผู้เลี้ยงหมู/วิสาหกิจชุมชน/สหกรณ์ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการเลี้ยงหมูของผู้เลี้ยงรายย่อย พร้อมทั้งเพิ่มรายได้ของเกษตรกรจากปลูกพืชหลังนา ซึ่งสามารถกำหนดปริมาณและรับซื้อที่แน่นอนเพื่อเป็นแรงจูงใจสำหรับเกษตรกรผู้ปลูกพืชอาหารสัตว์
สำหรับกากถั่วเหลืองนั้น ไม่ต้องพูดถึง เราต้องนำเข้ามา 99% ของปริมาณความต้องการใช้ในประเทศ เนื่องจากเราผลิตถั่วเหลืองได้ไม่ถึง 50,000 ตัน/ปี แต่ต้องใช้ประมาณปีละ 4 ล้านตัน ใช้สกัดน้ำมัน 75% แปรรูปอาหารคนและอาหารสัตว์ 25% และรัฐอย่าได้อาจหาญส่งเสริมให้เกษตรกรไทยผลิตถั่วเหลืองเพราะผลิตต่อไร่ต่ำมาก เราไม่มีทางสู้ได้ ต้องนำเข้าต่อไป แม้ว่าบราซิลผู้ส่งออกถั่วเหลืองรายสำคัญของโลกจะมีแนวโน้มส่งออกถั่วเหลืองได้มากขึ้น แต่ผู้ใช้รายใหญ่อย่างจีน สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ก็มีแนวโน้มการใช้เพิ่มขึ้นเช่นกัน น่าจะทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ในปีนี้น่าจะคงตัวอยู่ในระดับสูงเช่นนี้ทั้งปี
นอกจากนี้ ผู้ผลิตอาหารสัตว์ต้องเผชิญกับต้นทุนค่าแรง ค่าพลังงาน ราคาอาหารสัตว์น่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน นั่นหมายถึง ปีนี้ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไม่ควรต่ำกว่า 100 บาท/กก.
แม้ว่าจะมีการประกาศราคาแนะนำจากสมาคมผู้เลี้ยงสุกรที่เพิ่มขึ้นมา 4 บาท/กก. จากความต้องการเนื้อหมูที่เพิ่มขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน แต่คนเลี้ยงหมูไม่ได้ดีใจนัก แค่หายใจทั่วท้องเพียงชั่วครู่ เพราะรู้ดีว่านี้คือ การปรับขึ้นราคาชั่วคราว ราคาหมูหลังตรุษจีนคือของจริง จะขึ้นหรือลงอยู่ที่ปริมาณหมูเถื่อน !!!
ในปีนี้คาดว่าจะมีปริมาณการผลิตหมูขุนกลับเพิ่มเข้ามาได้ประมาณ 17 ล้านตัว แต่เราก็เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมาเพิ่มการบริโภคเนื้อหมูเช่นกัน ราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มไม่ควรต่ำกว่า 90 บาท หากต่ำกว่านี้แสดงว่า มีหมูเถื่อนมาเทขายในราคาถูก กรมปศุสัตว์ต้องผนึกกำลังเฝ้าระวังและตรวจจับอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
อย่างไรก็ดีหมูขุนที่คาดว่าจะเข้าเลี้ยงเพิ่ม 3 ล้านตัวในปีนี้ ส่วนใหญ่มาจากรายใหญ่ที่มีความพร้อมทั้งในเรื่องแม่พันธุ์ ระบบไบโอซีเคียวริตี้ ต้นทุนการขุนโดยเฉพาะอาหารที่มีต้นทุนเฉลี่ยถูกกว่ารายย่อย ประกอบกับรายย่อย แม้จะอยากกลับมาเลี้ยงก็ไม่ง่ายนัก เนื่องจากราคาลูกหมูแพงมาก (16 กก. 3,400 บาท/ตัว บวกลบ 96 บาท/กก.) รายย่อยส่วนใหญ่จึงตัดสินใจซื้อลูกหมูเข้าเลี้ยงเล็กลง น้ำหนักอยู่ราว ๆ 6-8 กก. ราคาประมาณ 2,000-2,500 บาท/ตัว เพื่อลดต้นทุนลูกหมู แต่ก็ต้องแบกรักความเสี่ยงในส่วนของอัตราสูญเสียที่อาจเพิ่มขึ้นและต้นทุนอาหารในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้น
ความเสี่ยงถัดมาคือ การซื้อขายลูกหมูเพื่อเข้าเลี้ยงของรายย่อยนั้นมักจะไม่ได้มีการตรวจเชื้อว่าปลอดโรคอหิวาต์แอฟริกา (ASF) หรือไม่ ซึ่งปศุสัตว์ควรต้องเร่งทำความเข้าใจและอำนวยความสะดวกในเรื่องนี้ เพื่อลดความเสี่ยงของการแพร่กระจายของเชื้อ ASF ที่แฝงอยู่ สังเกตได้จากช่วงหลังที่เริ่มมีการกลับเข้าเลี้ยงเพิ่มขึ้น ก็มีการพบเชื้อ ASF เพิ่มขึ้นในหลายพื้นที่เช่นกัน
นอกจากนี้ เพื่อแก้ปัญหาแม่พันธุ์และลูกหมูขาดแคลน กรมปศุสัตว์ต้องร่วมมือกับรายกลางและรายใหญ่ในจังหวัดเดียวกันหรือจังหวัดใกล้เคียงในการแบ่ง/ผลิตแม่พันธุ์/ลูกหมูมาให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อยในพื้นที่ได้นำไปเลี้ยงต่อในราคาทุน และควรสนับสนุนงบประมาณบางส่วนหรือสินเชื่อปลอดดอกเบี้ยจากรัฐบาลเพื่อปรับปรุงฟาร์มรายย่อยให้ได้มาตรฐาน GFM และจัดทำระบบไบโอซิเคียวริตี้
ข่าวประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับข้อมูลการพบเชื้อ ASF จึงสำคัญ ควรต้องประชาสัมพันธ์ให้คนเลี้ยงหมูทราบอย่างทั่วถึง เพื่อสร้างความตระหนักและปฏิบัติตามหลักไบโอซิเคียวริตี้อย่างเข้มงวด เนื่องจากเชื้อตัวนี้ยังแฝงอยู่ในสิ่งแวดล้อมพร้อมสร้างปัญหาได้ทันทีที่เกิดความบกพร่องในการป้องกันโรค
สรุปว่ารัฐต้องทำอะไรบ้าง
- วางแผนและจัดการวัตถุดิบอาหารสัตว์ให้เพียงพอ
- กำกับดูแลและตรวจจับหมูเถื่อน
- ส่งเสริมและสนับสนุนการทำฟาร์มได้มาตรฐาน และระบบไบโอซิเคียวริตี้
- หน้าที่ให้ข้อมูลข่าวสารแก่ประชาชนได้รวดเร็วและถูกต้อง
เหล่านี้คือ “หน้าที่” ของรัฐที่ต้องทำในวันนี้ ให้สมกับเงินภาษีประชาชน
#EatEcon
หมายเหตุ: บทความนี้เผยแพร่ใน
- กรุงเทพธุรกิจ 25 มกราคม 2566; บทความพิเศษ: 6.
- มติชนรายวัน 31 มกราคม 2566; กระแสทรรศน์: 12.
- ฐานเศรษฐกิจ 29 มกราคม 2566
- สำนักข่าว กรมประชาสัมพันธ์ 27 มกราคม 2566. สืบค้นจาก: https://thainews.prd.go.th/th/news/detail/TCATG230127163443204.
- แนวหน้า 27 มกราคม 2566. สืบค้นจาก: https://www.naewna.com/local/707044.
- สัตว์เศรษฐกิจ Livestock Production E-Magazine 1 กุมภาพันธ์ 2566 สืบค้นจาก: https://livestockemag.com/?p=401&fbclid=IwAR3Ldm3Zxy_7Xkq39J0GLPeHaji-cikk3W6yOyX4tIp_KMfaRIovCLVQjDY.
- Pig and Pork, 17(162):7-8.
ที่มา:
1 https://www.swinethailand.com/17372338/live-pig-price-16012023