ราคากาแฟพุ่ง เกษตรกรไม่ได้ดีใจ ผู้ดื่มต้องทำใจ

ราคากาแฟโรบัสตาในช่วงปี 2567 ปรับตัวขึ้นมาเหนือ 120 บาท/กก. เพิ่มขึ้นจากปี 2566 ไม่น้อยกว่า 50 บาท สอดคล้องกับราคากาแฟโรบัสต้าในตลาดนิวยอร์กและลอนดอนซึ่งเป็นราคาอ้างอิงรับซื้อหน้าโรงงาน เรียกได้ว่าราคาดีจนอาจจะช่วยต่ออายุต้นกาแฟโรบัสตาที่ยืนรอโค่นหลังจากต้นทุนเรียนโตจนให้ผลผลิตได้

แม้ราคากาแฟโรบัสตาจะพุ่งเกือบเท่าตัว แต่เกษตรกรก็มิได้ดีใจ เพราะไม่มีของในมือ แต่ก็มีหวังไม่น้อยกว่าในฤดูเก็บเกี่ยวปีหน้านี้จะได้ราคาไม่น้อย

ผลผลิตกาแฟเชอร์รี่สุกจะถูกเก็บ แล้วนำไปผ่านกระบวนการบ่ม/หมัก/ตากแห้ง แล้วนำไปสี เกษตรกรบางรายจำหน่ายผลกาแฟเชอร์รี่สุก บางรายจำหน่ายเป็นเมล็ดกาแฟสารให้กับผู้รับซื้อ/โรงคั่ว จากนั้นจะถูกเก็บในโกดัง โดยส่วนมากจะเป็นโรงคั่วที่รับซื้อเมล็ดกาแฟสารจากเกษตรกรนำบ่มจนได้รสชาติแล้วค่อยนำไปคั่ว บรรจุ แล้วจำหน่าย เพื่อบด ชง และดื่ม ผู้ที่เก็บเมล็ดกาแฟสารจึงได้อานิสงค์จากราคากาแฟที่สูงขึ้นในปีนี้

ผลจากสถานการณ์ภัยแล้งของบราซิล ทำให้ผลผลิตกาแฟอะราบิกาของบราซิลลดลงมาก ทำให้ผู้ผลิตกาแฟรายใหญ่ Volcafe ปรับลดการคาดการณ์ผลผลิตเหลือเพียง 34.4 ล้านกระสอบ (ลดลง 11 ล้านกระสอบ) ลดลงต่อเนื่องติดต่อกันเป็นปีที่ 5 ขณะที่อุปสงค์อะราบิกาเพิ่มสูงขึ้นนอกจากปริมาณความต้องการบริโภคกาแฟอะราบิกาเองที่เพิ่มขึ้น อีกส่วนเป็นผลจากปริมาณผลผลิตกาแฟโรบัสตาของเวียดนามลดลง สาเหตุสำคัญ 2 ส่วนคือ ปริมาณฝนน้อยกว่าปกติและเกษตรกรหันไปปลูกพืชทางเลือกอื่นที่ให้ผลตอบแทนดีกว่า เช่น ทุเรียน

พื้นที่ผลิตกาแฟโรบัสตาของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2562 เช่นกัน โดยส่วนใหญ่หันไปปลูกทุเรียนแทนเช่นกันเนื่องจากราคาดี มีพ่อค้าแข่งกันรับซื้อในพื้นที่อย่างคึกคัก สวนไหนที่ยังคงต้นกาแฟไว้ไม่โค่นเสียจนหมดก็พอจะได้ค่าปุ๋ยค่ายามาใช้ในสวน

อย่างไรก็ดี เนื่องจากราคากาแฟนิ่งมานานหลายปีก่อนหน้านี้ ทำให้เกษตรกรไม่ได้ดูแลกาแฟดีนัก เห็นได้จากผลผลิตเฉลี่ยต่อไร่ลดลง โดยปี 2562/63 ผลผลิตเฉลี่ยโดยรวม 100 กก./ไร่ เหลือเพียง 85 กก./ไร่ ในปี 2566/67 และคาดว่าจะลดอีกในอนาคต หากสวนไหนมีผลผลิตเฉลี่ยคงไว้ได้ที่ 100 กก./ไร่ ก็นับว่าเป็นปีทองปีหนึ่ง ต้นกาแฟยังคงได้รับโอกาสให้ยืนต้นอยู่ต่อไป

กาแฟเป็นพืชชนิดหนึ่งที่ประเทศไทยผลิตได้น้อยกว่าความต้องการใช้ภายในประเทศ หลังจากที่ผู้แปรรูปกาแฟสำเร็จรูปรับซื้อเมล็ดกาแฟภายในประเทศหมดแล้ว ผู้แปรรูปยื่นขอโควตานำเข้าต่อคณะกรรมการพืชสวน โดยผ่านโควตา AFTA เพื่อนำมาแปรรูป โดยในแต่ละปีต้องนำเข้ากาแฟโรบัสต้าประมาณ 9 หมื่นตัน ผลผลิตส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเวียดนาม ผู้ผลิตกาแฟโรบัสตาเบอร์หนึ่งของโลก

เมื่อพิจารณาอุปทานกาแฟของโลก สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประมาณการว่า ปีหน้ากาแฟโรบัสตาของโลก จะมีผลผลิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.85 เนื่องจากสภาพภูมิอากาศทางเวียดนามมีแนวโน้มปริมาณฝนมากกว่าปีที่ผ่านมา เช่นเดียวกับอุปทานกาแฟอะราบิก้าที่คาดกว่าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.36 (สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร, 2567)

แม้กาแฟจะมีราคาดี แต่กาแฟเป็นพืชที่ใช้แรงงานมากโดยเฉพาะขั้นตอนการเก็บเกี่ยว ต้องเก็บทีละเมล็ดถือเป็นอีกสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกษตรกรตัดสินใจเลือกที่จะโค่นกาแฟเปลี่ยนไปผลิตพืชชนิดอื่น

แนวโน้มความต้องการบริโภคกาแฟของโลกยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยเฉพาะการเติบโตของการบริโภคกาแฟเพิ่มขึ้นเท่าตัวของประเทศจีนในหนึ่งช่วงทศวรรษที่ผ่านมา โดยในปี 2567 จีนมีอุปสงค์กาแฟรวม 0.35 ล้านตัน ผลิตกาแฟอะราบิกาได้เอง 0.11 ล้านตัน  โดยตลาดจีนมีอัตราการเติบโตกาแฟพรีเมียมค่อนข้างสูงโดยเฉพาะกลุ่ม specialty แหล่งผลิตสำคัญคือ เมิ่งเหลียน มณฑลยูนาน ที่ได้เริ่มมีการส่งเสริมการผลิตตั้งแต่ปี 2531 (ค.ศ.1988) ด้วยเห็นว่าเป็นพืชหนึ่งที่มีความต้องการสูงในอนาคต จึงส่งเสริมการปลูกในพื้นที่เพื่อชดเชยการนำเข้าในอนาคต และก็เป็นเช่นนั้น ปัจจุบันมีพื้นที่ผลิตประมาณ 46,500 ไร่ พื้นที่แห่งนี้ได้มุ่งเน้นไปที่การผลิตกาแฟคุณภาพสูงจนได้รับรางวัลชนะเลิศกาแฟเกรดพรีเมียมเป็นปีที่ 3 แล้วในปีนี้

แม้ว่าชาวจีนจะยังคงนิยมดื่มชา แต่ความนิยมกาแฟก็มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดย People’s Daily Online คาดว่าปริมาณผลผลิต (green bean) ปี 2567/68 นี้ จะออกสู่ตลาดจากเมิ่งเหลียนประมาณ 12,500 ตัน

ภาพรวมการผลิตกาแฟในปี 2567/2568 USDA คาดการณ์ว่าการผลิตกาแฟทั่วโลกจะเพิ่มขึ้น +4.2% ต่อปีเป็น 176.235 ล้านถุง โดยการผลิตอะราบิก้าเพิ่มขึ้น +4.4% เป็น 99.855 ล้านถุง และเพิ่มขึ้น +3.9% โรบัสต้าผลิตได้ 76.38 ล้านถุง

แต่ด้วยสภาพภูมิอากาศ และความตึงเครียดทางการเหมือนที่สร้างความไม่แน่นอนให้กับห่วงโซ่อุปทานของกาแฟ ทำให้ราคาซื้อขายกาแฟในตลาดซื้อขายล่วงหน้าที่นิวยอร์กและลอนดอนที่ปรับตัวขึ้นไปเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2567 ทั้งอะราบิกาและโรบัสต้า โดยเฉพาะโรบัสตาปรับตัวสูงขึ้นร้อยละ 70 จากต้นปี ทำให้ต้นทุนกาแฟสำเร็จรูปปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมิอาจหลีกเลี่ยง

แม้ว่ากาแฟอะราบิกาจะเป็นคนละตลาดกับกาแฟโรบัสตา แต่ปัจจุบันผู้ผลิตกาแฟโรบัสตาได้หันมาทำตลาดกาแฟคุณภาพและตลาด specialty เรียกว่า ไฟน์โรบัสต้า (fine robusta) ซึ่งสามารถเพิ่มมูลค่าให้กับกาแฟโรบัสตาได้ไม่น้อย ดังตัวอย่างสวนกาแฟลุงไข่ ที่สามารถผลิตกาแฟไฟน์โรบัสตาได้คุณภาพจนมีเท่าไรก็ไม่พอขาย

ปกติเมล็ดกาแฟจะคิดเป็น 20-30% ของต้นทุนกาแฟ 1 ถ้วย ราคาเมล็ดกาแฟสารที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนของร้านกาแฟเพิ่มขึ้นราว 2-3% คงต้องรอดูว่าปีนี้ราคากาแฟที่ผู้บริโภคอย่างเราๆ ได้ดื่มกันปีหน้านี้จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเท่าไร เพราะหลายเจ้าได้ปรับตัวไปแล้วก่อนหน้านี้แล้วแบบเนียนๆ    

#EatEcon

ที่มา:

Photo by Milo Miloezger on Unsplash

สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร. 2567. สถานการณ์สินค้าเกษตรที่สำคัญและแนวโน้มปี 2568.

https://www.ncausa.org/Newsroom/Daily-coffee-consumption-at-20-year-high-up-nearly-40