อนาคตของหมูไทย 2568 คนไทยต้องกินหมูแพง แต่รายเล็กอาจไปไม่รอด
เรื่องโดย ผศ.ดร.สุวรรณา สายรวมญาติ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ในปี 2568 สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรประมาณการอุปสงค์เนื้อสุกรไว้ที่ 1.585 ล้านตัน ประมาณการอุปทานไว้ที่ 1.60 ล้านตัน หรือประมาณ 21.37 ล้านตัว ลดลงจากปี 2567 ประมาณ 4 แสนตัว เนื่องจากการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสุกร โดยขอความร่วมมือผู้เลี้ยงรายใหญ่ปรับลดจำนวนแม่พันธุ์สุกร
ในความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนสาเหตุปริมาณอุปทานสุกรที่ลดลงน่าจะมาจากการกลับมาของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุุกร (African Swine Fever: ASF) ที่ได้มีการเร่งระบายสุกรไปช่วงปลายปี 2567 แต่ปริมาณอุปทานสุกรคงไม่ลดลงรุนแรงดังเช่นการระบาดในรอบปี 2564 เนื่องจากฟาร์มมีบทเรียนและให้ความสำคัญกับระบบความปลอดภัยทางชีวภาพมากขึ้น
สถานการณ์ราคาสุกรปี 2568 คงไม่ได้ดีไปกว่าปี 2567 มากนัก เพราะฟาร์มขนาดใหญ่เข้มงวดกับ Biosecurity ซึ่งสามารถควบคุมการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุุกรได้ดีที่สุดในปัจจุบัน แต่หากมีการระบาดเป็นวงกว้างราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มก็ไม่น่าจะสูงไปกว่า 85 บาท/กก. ราคาเฉลี่ยทั้งปีน่าจะอยู่ระหว่า 70 – 85 บาท/กก.
เหตุที่เป็นเช่นนี้เพราะหลังจากการระบาดครั้งใหญ่เมื่อช่วงปี พ.ศ.2563 – 2564 สัดส่วนปริมาณการผลิตสุกรมาจากฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่ในปี 2567 เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 74 และมีจำนวนเกษตรกรรายย่อยลดลงร้อยละ 22.6 ขณะที่ฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.79 และร้อยละ 12.7 ตามลำดับ (ภาพที่ 3 และตารางที่ 1)
สัดส่วนการเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนภาพในอนาคตของสุกรไทยว่า ผู้บริโภคจะได้บริโภคเนื้อสุกรที่มีคุณภาพ และราคาคงไม่ถูกไปกว่านี้ เนื่องจากมาตรฐานการผลิตที่ดีขึ้น จึงมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น และฟาร์มขนาดใหญ่มีต้นทุนการจัดการฟาร์มที่สูงกว่าฟาร์มขนาดเล็ก
จุดแข็งอย่างหนึ่งของการที่มีฟาร์มขนาดกลางและขนาดใหญ่เพิ่มขึ้น คือ การควบคุมการระบาดของโรคต่าง ๆ สามารถทำได้ดีกว่าฟาร์มขนาดเล็ก เนื่องจากหากปล่อยให้โรคเข้าฟาร์ม ความเสียหายจะมากจนถึงขั้นปิดฟาร์มได้ และฟาร์มขนาดกลาง-ใหญ่ต้องทำมาตรฐานฟาร์ม GAP ตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนด จึงเพิ่มข้อได้เปรียบในการส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังประเทศเพื่อนบ้านได้ง่ายขึ้น
ข้อมูลจากกรมศุลกากร พบว่า ปี 2567 ประเทศไทยสามารถส่งออกสุกรมีชีวิตทั้งที่เป็นสุกรพันธุ์และสุกรขุนมีชีวิตไปยัง สปป.ลาว และกัมพูชาได้เพิ่มขึ้นจากปี 2566 เพื่อระบายปริมาณสุกรไทยที่ล้นตลาด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการขยายกำลังการผลิตของฟาร์มขนาดใหญ่ และปริมาณเนื้อสุกรเถื่อนที่ยังค้างอยู่ในระบบมาจนถึงปี 2567
โดยสรุปแล้ว ปี 2568 ราคาสุกรหน้าฟาร์มมีชีวิตน่าจะสูงกว่าปี 2567 เล็กน้อย เราจะได้เห็นการแข่งขันระหว่างยักษ์สุกรของไทยมากขึ้น นำโดย ไทยฟู้ดส์ ที่ได้ประกาศเดินหน้าขยายสาขา “ไทยฟู้ดส์ เฟรซ มาร์เก็ต” เป็น 400 สาขา เป้าหมายรายได้เติบโตที่ 10-15% เพื่อเพิ่มมาร์จิ้นและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับบริษัท
ผู้ค้าปลีกในตลาดสดต้องปรับตัว เพราะลูกค้าท่านส่วนหนึ่งจะหายไปแน่นอน เนื่องด้วยภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ ใครถูกกว่าได้เปรียบ และฟาร์มขนาดใหญ่แบบ integrated farm สามารถจัดการได้ทั้งต้นน้ำยันปลายน้ำเช่นนี้ ได้เปรียบต้นทุนชัดเจน
แม้ผู้บริโภคจำนวนไม่น้อยอยากสนับสนุนพ่อค้าแม่ขายในตลาด เลือกซื้อเนื้อสุกรจากเขียงในตลาด แต่คงสู้ราคาของร้านฟาร์มใหญ่ไม่ได้ เขียงจำนวนไม่น้อยหันไปซื้อหมูชิ้นมาจำหน่าย สุดท้ายแล้วฟาร์มรายย่อยและรายเล็กน่าจะลดลงอีก
นับแต่นี้คงได้แต่หวังให้ยักษ์ใหญ่แข่งขันกันแทนที่จะฮั้วกัน มิเช่นนั้น ผู้บริโภคคงได้แต่ก้มหน้ากินหมูแพงแบบไม่มีทางเลือก
#EatEcon