ความล้มเหลวของตลาดกับสุขภาพ
การเพิ่มขึ้นของประชากรโลกที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีทีท่าว่าจะสามารถลดอัตราการเติบโตนี้ได้ในระยะเวลาอันใกล้ มีปัจจัยหลายๆอย่างที่สนับสนุนการอัตราการเพิ่มของประชากรกลุ่มนี้ วันนี้ผู้เขียนของแสดงความเห็นในมุมมองของนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งสามารถอธิบายการเติบโตของประชากรที่มีภาวะน้ำหนักเกินและโรคอ้วนด้วย ความล้มเหลวของตลาด(Market failure)
คนหนึ่งคนมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเข้าข่ายผู้มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน เมื่อตลาดนั้นไม่สามารถตามหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพเพื่อให้เกิดการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ ภายใต้เงื่อนไขตลาดแข่งขันสมบูรณ์ซึ่งมีอยู่ 5 ข้อ เงื่อนไขแรกคือ ผู้ผลิตและผู้บริโภคในอุตสาหกรรมนั้นมีมาก จนทำไม่มีผู้ใดมีอำนาจในการกำหนดราคา นำมาซึ่งเงื่อนไขต่อมาคือ ทั้งผู้ผลิตและผู้ซื้อเป็นผู้รับราคาจากตลาดที่กำหนดโดยอุปสงค์และอุปทาน (Price taker) ผู้ผลิตจะเข้าหรือออกจากตลาดเป็นไปอย่างเสรี นั่นคือ หากทำธุรกิจแล้วขาดทุนก็เลิกกิจการ หากมีกำไร ก็ยังคงอยู่ในตลาดต่อไป เงื่อนไขต่อมาคือสินค้าที่ขายอยู่ในตลาดมีลักษณะเหมือนกันทุกประการ และประการสุดท้ายคือ ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายนั้นมีข้อมูลและความรู้สมบูรณ์ (Perfect information) หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นในตลาดอาหารนั้นไม่เป็นดังนั้น
ความล้มเหลวของตลาดที่นำมาซึ่งปัญหาโรคอ้วนในปัจจุบันมีหลายปัจจัย ได้แก่
1) การเข้าถึงข้อมูลของผู้ซื้อและผู้ขายไม่เท่าเทียมกัน ยกตัวอย่างง่ายๆ เรื่องการดื่มเครื่องดื่มจำพวกน้ำหวาน กลุ่มเครื่องดื่มน้ำอัดลมเป็นตัวอย่างของผู้ร้ายที่ถูกหยิบยกขึ้นมา หลายครอบครัวไม่อนุญาตให้เด็กๆ ดื่มน้ำอัดลม ซึ่งก็เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หากแต่ผู้ที่ต้องการควบคุมน้ำหนักหลายคนยังคงต้องการดื่มน้ำอัดลม โดยเลี่ยงไปดื่มกลุ่มมีใช้สารทดแทนความหวาน มีงานวิจัยเปรียบเทียบคนสองกลุ่มให้ดื่มน้ำอัดลมก่อนรับประทานอาหาร กลุ่มแรกคือดื่มน้ำอัดลมแบบปกติ และกลุ่มที่สองดื่มน้ำอัดลมใช้สารทดแทนความหวาน ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มคนที่ดื่มน้ำอัดลมแบบใช้สารทดแทนนั้นรับประทานอาหารมากกว่ากลุ่มคนที่ดื่มแบบปกติอย่างมีนัยยะสำคัญ เหตุผลที่เป็นเช่นนี้เพราะน้ำอัดลมที่ใช้สารทดแทนความหวานแทนน้ำตาลไม่ได้ให้พลังงานใดๆ จึงทำให้ผู้เข้าร่วมการทดลองกลุ่มดังกล่าวกินอาหารมากกว่าปกติเพราะหิวมากกว่า ในขณะที่กลุ่มที่ดื่มน้ำอัดลมแบบปกติได้พลังงานจากน้ำตาลไปบางส่วนจึงกินอาหารน้อยกว่า และประการสำคัญคือ การดื่มน้ำอัดลมแบบใส่สารทดแทนยังคงทำให้เกิดความเคยชินและติดในรสหวาน ซึ่งเป็นการยากที่เราจะลดการบริโภคน้ำตาลเพื่อควบคุมน้ำหนัก การให้ข้อมูลที่ไม่ครบรอบด้านของธุรกิจน้ำหวานเพื่อกระตุ้นยอดขายของบริษัทก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็น misleading information หรือ information asymmetryจึงเป็นหนึ่งปัจจัยที่ก่อให้เกิดความล้มเหลวของตลาดที่เพิ่มขึ้นประชากรที่เป็นโรคอ้วน โดยเฉพาะกับเด็กที่มีความสามารถในการคิดพิจารณาอาหารที่มีประโยชน์ เด็กๆ มักจะเลือกขนมขบเคี้ยวที่มีผงปรุงรส น้ำอัดลมที่ซ่าและหวานอร่อย ซึ่งเต็มเป็นด้วยโซเดียมและน้ำตาลที่มากเกินความต้องการของร่างกาย และผลผลิตภัณฑ์เหล่านี้มักอยู่รอบตัวของเด็ก และราคาไม่แพง ง่ายแต่การซื้อ จึงไม่แปลกที่จำนวนเด็กที่เข้าข่ายน้ำหนักเกินและอ้วนจะมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
2) ความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอาหารนั้นไม่สมบูรณ์
ธุรกิจอาหารขนาดใหญ่มักเป็นธุรกิจที่แปรรูปอาหาร มีต้นทุนที่ต่ำกว่าธุรกิจขนาดย่อย มีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ และความคุมความปลอดภัยในการผลิตจนได้รับตรารับรองมาตรฐานต่างๆ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภค หากแต่ไม่ได้มายถึงว่าผลผลิตภัณฑ์ของธุรกิจใหญ่จะควรเข้ามาแทนทีการบริโภคแบบดังเดิมที่ปรุงกันแบบในครัวเรื่อน ธุรกิจอาหารอาศัยความรู้ทางวิทยาศาสตร์เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์ ให้อาหารนั้นมีรสชาติอร่อยและอยู่ได้นาน และยิ่งมีการผลิตมากจนทำให้เกิดการประหยัดต่อขนาด (Economy of scale) และการประหยัดต่อขอบเขต (Economy of scope) ด้วยแล้ว ก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตนั้นต่ำมาก จนธุรกิจรายเล็กไม่สามารถสู้ราคาได้ ทำให้การซื้ออาหารมาปรุงเองที่บ้านเริ่มลดจำนวนครั้งลงเรื่อยๆ แม้กระทั่งการซื้อข้าวมาหุงรับประทานเองก็ลดน้อยลงกว่าในอดีตมาก เนื่องจากปัจจุบันมีข้าวหุงสุกพร้อมรับประทานวางจำหน่ายทั่วไปตั้งแต่ราคาถ้วยละ5 บาทจนถึงถ้วยละ 15 บาท ความเร่งรีบและวิธีชีวิตแบบเมืองจึงเป็นปัจจัยเอื้ออย่างมาให้กับธุรกิจอาหารเข้ามาตอบโจทย์การบริโภคที่เน้นความสะดวกสบาย ราคาจับต้องได้ หากแต่ปริมาณของเครื่องปรุงรสต่างๆ ที่ทำให้ผลผลิตภัณฑ์อร่อยถูกปากนั้นไม่น้อยเลยทีเดียว และเราก็ชินกับรสชาติจัดเหล่านั้นเสียแล้ว และเราจะพบว่าปัจจุบันธุรกิจอาหารแปรรูปกลุ่มFast food ที่มีสาขาจำนวนมากนั้น จะเป็นอาหารจำพวกทอดและย่าง ซึ่งไม่เป็นผลดีเลยกับผู้บริโภค
หากมองประเด็นในเรื่องการตลาดอาหาร ธุรกิจขนาดใหญ่มีความได้เปรียบกว่าในการสร้าง Content ให้เข้าถึงผู้บริโภคได้จำนวนมากกลุ่มกว่าธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก โปรโมชั่นต่างๆ เช่น ซื้อหนึ่งแถมหนึ่ง การลดราคาการขายควบคู่ สื่อที่สวยงาม ประกอบกับมาตรฐานรสชาติแบบกลางๆ หากแต่ค่อนข้างคงที่ จนทำให้ธุรกิจอาหารขนาดใหญ่นั้นสามารถสร้างแบรนด์ได้เข้มแข็ง และยึดที่ยืนในตลาดมากกว่าธุรกิจขนาดเล็ก ซึ่งความได้เปรียบเหล่านี้ทำให้ธุรกิจใหญ่จึงเป็นผู้นำตลาดอยู่เสมอและมีผลผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองกับความต้องการของผู้บริโภคที่ไม่ได้ทันระวังเรื่องผลที่ตามมาจากการบริโภคอาหารแปรรูปสม่ำเสมอและยาวนาน มีการบริโภคมากเกินความจำเป็นของร่างกายจนมีนำมาสู่ภาวะโรคอ้วนในที่สุด
3) ผลกระทบภายนอกเชิงลบที่เกินขึ้นจากโรคอ้วน
โรคอ้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อเนื่องกับอีกหลายๆโรคในกลุ่มNCDs ที่เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตสูงถึงร้อยละ 73 ของการเสียชีวิตของคนไทย โรคเหล่านี้เมื่อเป็นแล้วไม่สามารถรักษาให้หายได้ขาด ต้องพบแพทย์เป็นประจำเพื่อความต่อเนื่องในการรักษา มีการประมาณมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจไทยสูงถึง25.2 พันล้านบาท และรัฐต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพประมาณ4 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งถือเป็นผลกระทบเชิงลบต่อสังคมไทย เนื่องจากการป่วยเป็นโรคกลุ่ม NCDs นั้น มีสาเหตุมาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะคนเมือง หากแต่สังคมต้องแบบรับต้นทุนต่างๆที่เกิดขึ้นจากการเจ็บป่วยของโรคเหล่านี้ จากงานวิจัยของ ดร.ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ สำรวจค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยพบว่า ค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยไปกับค่ารักษาพยาบาลและค่ายาสูงถึงร้อยละ 75 แม้ว่าผู้ป่วยที่มีรายได้สูงจำนวนไม่น้อย จะซื้อประกันสุขภาพส่วนตัวและยอมจ่ายแพงเพื่อเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลเอกชน เนื่องจากประหยัดเวลา ได้สิทธิประโยชน์ที่มากกว่าการใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้า สามารถรักษากับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญที่เป็นอาจารย์หมอจากโรงพยาบาลรัฐที่มาทำล่วงเวลาในโรงพยาบาลเอกชน หากแต่จำนวนผู้ป่วยที่โรงพยาบาลรัฐก็ไม่ได้น้อยลงแต่อย่างไร เนื่องจากจำนวนผู้มีสิทธิใช้ประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูงถึง 40 ล้านคน
ในอนาคตประเทศไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มมากขึ้น จำนวนผู้ป่วยกลุ่มโรค NCDs จะเพิ่มมากขึ้น ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพของเราในอนาคตโดยปรับลด ละ และเลิก พฤติกรรมเสี่ยงต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่สามารถเริ่มได้จากตัวเราเองและคนรอบข้างของเรา
หากท่านใดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com
ที่มาซ Photo by rawpixel on Unsplash