กระเทียม พืชหลังนาที่แสนหอม
เมื่อบอกแม่ว่าจะไปศรีสะเกษ
“ซื้อกระเทียมกลับมาด้วยนะ” นี่คือสิ่งแรกที่แม่นึกถึง
แม่บอกว่าแม่ชอบกระเทียมของศรีสะเกษเพราะหอมกว่า ทำกับข้าวไทยอร่อยกว่า
ปกติเวลาแม่ซื้อกระเทียมก็จะเลือกที่แก่จัด แล้วนำมาแขวไว้ที่ขื่อบ้าน ให้อากาศถ่ายเท ช่วยยืดอายุการเก็บรักษาได้ค่อนข้างนาน
แม่เชื่อว่าคนที่ทำกับข้าวเองเค้าก็ใช้กระเทียมไทยกันอยู่นะ แม้ว่ากระเทียมไทยจะกลีบเล็กและมีราคาแพงกว่า (ราคากระเทียมไทยที่ขายตามตลาดนัดแถวบ้านเรา จะแพงกว่ากระเทียมจีนประมาณ 20-30 บาท/ก.ก. ก็นับว่าแพงเอาการอยู่)
แต่กระเทียมใช้น้อย สามสี่กลีบต่อเมนู แบ่งซื้อมา 10-20 บาทก็ใช้ไปได้นานพอสมควร จะใช้กระเทียมจีนบ้างก็เฉพาะเมนูพวกนึ่งมะนาว เพราะกลีบใหญ่ ซอยง่าย แต่งจานสวย แต่ไม่หอม ใช้ตำพริกแกงก็ไม่อร่อย ได้แต่เนื้อ
จากข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ราคากระเทียมแห้งไซส์ใหญ่ถือว่าดีมาก เป็นปัจจัยสำคัญที่จูงใจให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่การปลูก
แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อเราไปเชคราคากระเทียมสด ราคาเฉลี่ยจะตกอยู่ที่ประมาณกิโลกรัมละ 27 บาท ซึ่งราคานี้มักเป็นราคาที่เกษตรกรรายเล็กส่วนใหญ่ขายได้
เกษตรกรมักจะปลูกหลังจากเกี่ยวข้าวนาปี เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จก็มักจะขายเป็นกระเทียมสด เพราะไม่มีพื้นที่ตากกระเทียมให้แห้ง และส่วนมากมักจะขายผ่านล้ง ตลาดกระเทียมของจังหวัดศรีสะเกษมีล้งหลักๆอยู่ 4-5 ล้ง เราขอเรียก 5 เสือ ในแต่ละวงการค้าสินค้าเกษตรก็จะมีเสือเหล่านี้เป็นผู้ควบคุมตลาด
ราคากระเทียมแห้งใหญ่คละที่เกษตรกรขายได้ (บาท/ก.ก.)
ที่มา สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (2561)
แนวโน้มของกระเทียมของศรีสะเกษมีอาการไม่ค่อยสู้ดี เนื่องจากตลาดส่งออกหลักอย่างอินโดนีเซียส่งเสริมให้มีการกระเทียมเพื่อลดการนำเข้า งานเข้าพี่น้องเกษตรกรชาวศีรษะเกษตรผู้ปลูกหอมกระเทียมอย่างแน่นอน หน่วยงานภาครัฐต้องเตรียมพร้อมรับมือปัญหาตั้งแต่เนิ่นๆ
ในทางเศรษฐศาสตร์การแก้ปัญหาก็มีอยู่สองฝั่งคือ ฝั่งอุปสงค์ เช่น การเพิ่มความต้องการการใช้หอมกระเทียมไทย และฝั่งอุปทาน เช่น การลดพื้นที่ปลูก หรือแม้กระทั่งการลดจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกกระเทียม ซึ่งไม่ใช่โจทย์ง่ายเลยสักทาง
ข้อดีอย่างหนึ่งของกระเทียมคือมีอายุสั้น และพื้นที่การปลูกไม่มากเหมือนเช่นในอดีตที่มีพื้นที่ปลูกสูงถึงสองแสนกว่าไร่ในช่วงปี 2526-2528 ผลผลิตเฉลี่ยขณะนั้นประมาณ 547 กก./ไร่ ปัจจุบันมีพื้นที่ปลูกทั่วประเทศประมาณ 74,909 ไร่ ผลผลิตเฉลี่ยประมาณ 1036 ก.ก./ไร่ ซึ่งจะออกสู่ตลาดมากในช่วงเดือนมีนาคม
สิ่งหนึ่งที่เราเห็นได้จากตัวเลขพวกนี้คือ ประสิทธิภาพการผลิตกระเทียมของไทยนั้นดีขึ้น
แต่มันคงจะดีไม่น้อยถ้าเราสามารถวางแผนการผลิตให้เหลื่อมเวลากันได้ เพื่อให้ผลผลิตทยอยเข้าสู่ตลาด แต่ก็ไม่ง่าย ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง
กระเทียมเป็นเพียงองค์ประกอบเล็กๆในเมนูอาหาร แม้จะขาดไม่ได้ แต่ก็ไม่ได้ใช้เยอะ การเพิ่มอุปสงค์จึงลำบาก
แม้จะมีความพยายามวิจัยประโยชน์ของกระเทียมในทางการแพทย์ซึ่งทาง honestdocs.co ได้ลิสต์สรรพคุณของกระเทียมยาวเป็นหางว่าว แต่ยังขาดการวิจัยในคนเรากันอย่างจริงจัง ทำให้เราไม่สามารถเคลมด้านการรักษาโรคได้เต็มปาก
อีกความท้าทายหนึ่งคือ คุณประโยชน์เหล่านี้ดูเหมือนว่าจะเกิดจากการกินกระเทียมสด ไม่ใช่กระเทียมเจียวที่ใช้โรยหน้าอาหาร จึงไม่ง่ายเลยที่จะทำให้เราหันมากินสด เนื่องจากทำให้กลิ่นปากแรง และมีผลต่อกลิ่นตัวในบางคน
ในหลายเมนูใช้กระเทียมสดเป็นเครื่องเคียง เช่น ข้าวขาหมู หรือไส้กรอกอีสาน ซึ่งก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่ช่วยเพิ่มโอกาสในการกินกระเทียมสดได้
เราได้คุยกับเพื่อนที่เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ของศรีสะเกษให้ช่วยหาแนวทางแก้ปัญหากระเทียมล้นตลาด เหมือนที่กล่าวไม่ข้างต้น ปัญหานี้ไม่ง่ายจริงๆ
เราเขียนบทความนี้เพื่ออยากชวนเพื่อนๆ ช่วยกันคิดว่าเราจะยกระดับกระเทียมไทยอย่างไรดี ตอนนี้คิดไม่ออก เราเชื่อในเรื่องของพลังในความคิด ช่วยกันคิด ช่วยกันพัฒนา ช่วยกันหาทางออก เรามาร่วมกันนะ ^ ^
#eatecon
หากท่านใดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com
อ้างอิง
https://www.honestdocs.co/herbal-garlic-help-disease
http://oldweb.oae.go.th/download/forecastdata/situation/garlic.pdf