ข้าวพื้นเมืองคืนทุ่ง: ข้าวหอมนครชัยศรี

เมื่อข้าวพื้นเมืองหายไปจากท้องทุ่ง ของดีที่เคยมีถูกลืมเลือน ข้าวหอมนครชัยศรี เป็นหนึ่งในของดีแห่งทุ่งนครชัยศรีที่หายไปเมื่อ 40ปีก่อน อันเป็นผลพวงของการปรับปรุงพันธุ์ข้าวไม่ไวแสงจนเกิดเหตุการที่เรียกว่า‘ตกเขียว’ จนเมื่อสามปีก่อนกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า ได้เชิญชวนสมาชิกกว่า 20 ชีวิต ร่วมกันอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองเหล่านี้เอาไว้ เพื่อให้ของดีแห่งทุ่งนครชัยศรียังคงอยู่

“ส้มโอหวาน ข้าวสารขาวลูกสาวสวย…” ส่วนหนึ่งของคำขวัญประจำจังหวัดนครปฐม ที่มีมาอย่างยาวนาน…

อ่ะ ๆ ขึ้นต้นมาแบบนี้ อย่าเพิ่งคิดว่าเราจะมาพาทัวร์บ้านเกิดเชียวนะ แต่ก็คงไม่ผิด ถ้าสาวงามแห่งนครปฐมอย่างเรา จะภูมิใจในภูมิลำเนาแผ่นดินเกิด…และเรื่องราวที่เราจะนำมาเล่าสู่กันอ่านในสัปดาห์นี้ ก็เป็นหนึ่งในความภาคภูมิที่ว่านั่นเอง

จากคำขวัญของจังหวัดนครปฐมที่ท่องมาตั้งแต่เด็ก จนวิวัฒนาการมายาวเหยียดเยี่ยงในปัจจุบัน  “ส้มโอหวาน ข้าวสารขาว ลูกสาวงาม ข้าวหลามหวานมัน สนามจันทร์งามล้น พุทธมณฑลคู่ธานี พระปฐมเจดีย์เสียดฟ้า สวยงามตาแม่น้ำท่าจีน”

สังเกตไหมคะว่า ไม่ว่าจะผ่านมายาวนานแค่ไหน คำขวัญจังหวัดจะยืดยาวขึ้นเพียงใด แต่สิ่งที่ไม่เคยหล่นหายไป คือ 3 วรรคแรก นี่เป็นเครื่องการันตีว่านครปฐมบ้านฉันมีสินทรัพย์แห่งแผ่นดินที่ดีไม่เปลี่ยนแปลง

สินทรัพย์แรก “ส้มโอหวาน” แน่นอน เราว่าคนไทยส่วนใหญ่รู้จักส้มโอพันธุ์ทองดี และขาวน้ำผึ้งเป็นอย่างดี อันนี้เราคงไม่ต้องพูดถึง 

ข้ามไปที่สินทรัพย์อย่างที่สาม “ลูกสาวงาม/สวย” ข้อนี้ไม่พูดมาก กลัวเจ็บคอ หันมามองหน้าและสบตาเราเป็นอันจบชัด…555 (อันนี้ล้อเล่น)

ย้อนกลับมาที่สินทรัพย์อย่างที่สองดีกว่า “ข้าวสารขาว” ข้อนี้เราก็ภูมิใจตามๆ ที่เค้าว่ามา แต่โดยส่วนตัวเรายังไม่เคยค้นพบคำตอบให้ตัวเองว่า ข้าวที่ว่านี้ คือข้าวพันธุ์อะไรหนอที่ดีเด่นจนกลายมาเป็นของดีประจำจังหวัด

ถึงแม้พื้นที่รอบบ้านเราจะรายล้อมไปด้วยท้องทุ่งนาที่แปรเปลี่ยนความงามไปตามฤดูกาลของ“ทุ่งนครชัยศรี”แผ่นดินที่มีคนปลูกข้าวมาอย่างยาวนานก็ตามแต่

แต่ทว่าตั้งแต่เล็กจนโต เราซึ่งเป็นมนุษย์ผู้กินข้าวเป็นอาหารหลักตามวิถีไทย ยังไม่เคยมีโอกาสได้สัมผัสรสชาติข้าวพื้นเมืองแห่งทุ่งนครชัยศรีเลยแม้แต่มื้อเดียว…เพราะข้าวที่บ้านเรากินก็เป็นข้าวหอมมะลิที่มีขายตามท้องตลาดทั่วไป ที่เม็ดข้าวก็ขาวสวยเหมือนกันนั่นเอง

จนกระทั่งเมื่อปลายปีที่แล้ว เรามีโอกาสได้ไปร่วมประชุมเวทีข้าวไทย และมีโอกาสได้ลิ้มชิมรส“ข้าวหอมนครชัยศรี” ข้าวพันธุ์พื้นเมืองแห่งท้องทุ่งนครชัยศรี ที่มีการบอกเล่าผ่านเรื่องราวจากเกษตรกรและผู้รู้ว่าสูญหายไปเมื่อ 40 ปีก่อน ในนาทีนั้นเราก็ประจักษ์ชัดว่านี่สินะ ที่มาของ “ข้าวสารขาว”

ข้าวหอมนครชัยศรีที่เราได้ชิมในวันนั้น หอมมาก แม้ว่าจะสู้ข้าวหอมมะลิไม่ได้ แต่ก็เพียงพอที่จะเรียกน้ำย่อยในกระเพาะให้ทำงาน

นอกจากความหอมแล้ว ยังมีลักษณะเด่นอีกอย่างคือ ความเหนี่ยวนุ่ม คล้ายๆกับข้าวญี่ปุ่น หรือข้าว กข43 ข้าวน้ำตาลต่ำที่วางขายอยู่ในตลาดตอนนี้

ไม่เพียงเท่านี้ ข้าวพันธุ์หอมนครชัยศรีนี้ เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่เคยชนะการประกวดพันธุ์ข้าวในสมัยรัชกาลที่ 5 และเป็นหนึ่งของข้าวทรงเสวยด้วย

สมองเราเริ่มคิดสะระตะ เกิดคำถามมากมาย…ที่ผ่านมาข้าวสายพันธุ์นี้หายไปไหน แล้วถ้ารสชาติและรสสัมผัสมันจะดีขนาดนี้แล้วทำไมถึงได้หลงลืมหรือมองข้าม หรือคนนครปฐมจะไม่นิยมในรสนี้ หรือมันมีดีสู้ข้าวหอมมะลิไม่ได้ และคำถามอื่น ๆ อีกมากมาย

ด้วยฃความกระหายใคร่รู้ทำให้เราร้อนรนจนต้องสืบหาข้อมูลให้กระจ่างชัด  และเป็นที่มาของบทความนี้

ข้าวหอมนครชัยศรีเป็นข้าวพื้นเมือง เป็นข้าวนาปี เป็นข้าวไวแสง นิยมปลูกในช่วงเดือนสิงหาคม-ธันวาคม มีลักษณะเด่นคือ ความหอม ขาว เมล็ดยาวและปลายงอเล็กน้อยเหมือนกับข้าวนาปีทั่วไป แต่ข้าวพันธุ์นี้อุดมไปด้วยวิตามินและธาตุเหล็ก

ข้าวพันธุ์หอมนครชัยศรีนี้ หายไปตั้งแต่ช่วงตกเขียวเมื่อ 40 ปีก่อน ซึ่งเป็นช่วงที่ภาครัฐและหน่วยงานด้านการเกษตรมีการปรับปรุงและพัฒนาพันธุ์ข้าว เพื่อให้ชาวนาสามารถปลูกข้าวนอกฤดูกาลปกติ (ฤดูฝน/ข้าวนาปี) ได้ หรือที่เรียกว่า นาปรัง

นาปรังจะใช้น้ำจากระบบชลประทานในการทำนา ซึ่งเหมาะกับพันธุ์ข้าวให้ไม่ไวแสง และสามารถเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น ด้วยเหตุนี้ ชาวนาจึงหันไปปลูกข้าวพันธุ์ไม่ไวแสงที่ให้ผลผลิตมากกว่าข้าวพันธุ์พื้นเมืองเพื่อขายในเชิงพาณิชย์…คราวนี้ผลผลิตมาก กลัวขายข้าวไม่ได้ราคา ชาวนาจึงรีบเกี่ยวข้าวขายทั้งที่ยังไม่ครบกำหนด ข้าวที่เกี่ยวยังมีสีเขียวปนจึงเป็นที่มาของคำว่า “ตกเขียว”

เมื่อข้าวพื้นเมืองหายไปจากท้องทุ่ง ของดีที่เคยมีถูกลืมเลือน นอกจากข้าวหอมนครชัยศรีแล้ว ยังมีข้าวพันธ์พื้นเมืองของนครปฐมอีกหลายสายพันธุ์ที่ถูกหลงลืมจนเกือบสูญหาย จนเมื่อสามปีก่อน กลางปี 2559 กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม ได้เชิญชวนสมาชิกกว่า 20 ชีวิต ร่วมกันอนุรักษ์ข้าวพันธุ์พื้นเมืองคืนสู่ท้องทุ่งนครชัยศรี เพื่อให้ข้าวพื้นถิ่นคงอยู่เคียงคู่ของดีของเด่นของจังหวัดและคงไว้ซึ่งเอกลักษณ์ของแผ่นดินไทยอันแสนอุดม

ทางกลุ่มได้รับมอบเมล็ดพันธุ์จากศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ซึ่งตอนนั้นสามารถรวบรวมได้ 11 สายพันธุ์ แล้วนำมาเพาะกล้า

แต่เนื่องจากเมล็ดพันธุ์นั้นมีน้อยมาก จึงปักดำแบบต้นเดียว เป็นการขยายพันธุ์แบบค่อยเป็นค่อยไป เมื่อเก็บเกี่ยวได้ผลผลิตจึงแบ่งเก็บไว้ขยายพันธุ์เป็นส่วนใหญ่

ส่วนที่นำมาบริโภคได้มีการทดสอบคุณค่าทางโภชนาการ และเปิดโอกาสให้ผู้บริโภคได้ทดลองชิม พบว่า ข้าว 3 สายพันธุ์ คือ ข้าวหอมนครชัยศรี ข้าวพระยาชม และข้าวทองระย้า ได้รับการตอบรับดี โดยเฉพาะข้าวหอมนครชัยศรีที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวดีและเป็นข้าวดีทรงคุณค่า

ด้วยรสชาติข้าวนุ่มหอม แม้จะหอมสู้ข้าวหอมมะลิไม่ได้ แต่เรื่องของความเหนียวนุ่มถือว่าชนะขาด แม้จะทิ้งไว้จนเย็น ก็ยังคงความเหนียวนุ่มไว้ได้อย่างดี ทางกลุ่มจึงได้เน้นการผลิตข้าวพันธุ์นี้มากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ และค่อย ๆ ขยายพื้นที่ปลูกข้าวพื้นเมืองมากขึ้นเรื่อย ๆ

เมื่อมาดูที่ลักษณะของข้าวหอมนครชัยศรี ข้าวพันธุ์นี้มีคุณสมบัติต้านทานต่อศัตรูพืชอย่างเพลี้ยกระโดดสีนํ้าตาล มีศัตรูพืชน้อยไม่ชอบสารเคมี ลําต้นใหญ่ แข็งแรง มีความสูงประมาณ 2 เมตร แต่เนื่องจากความสูงมาก จึงล้มได้ง่าย และให้ผลผลิตตํ่า ประมาณ 30-70 ถังต่อไร่ ซึ่งเป็นจุดอ่อนของพันธุ์ที่ต้องพัฒนากันต่อ

แม้ว่าความสูงของลำต้นนี้จะเป็นข้อได้เปรียบหากปีไหนฝนดี น้ำมาก กอข้าวจะยังยืนหยัดได้ ซึ่งหากจะส่งเสริมให้เกษตรกรในทุ่งนครชัยศรีหันมาปลูกข้าวพันธุ์นี้เพิ่มมากขึ้น ก็ต้องปรับปรุงพันธุ์ให้สามารถปลูกได้ดีแม้นอกช่วงนาปี ซึ่งต้นข้าวต้องเตี้ยลง ไม่เช่นนั้นจะหักล้มเสียหาย ได้ผลผลิตไม่ดี

นอกจากนี้ยังมีความท้าทายสำหรับนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวที่ต้องคำนึงคือ การปรับปรุงพันธุ์ต้องคงรสชาติ ความหอม ความนุ่มเหนียว และหุงขึ้นหม้อ

เอกลักษณ์เหล่านี้คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ข้าวหอมนครชัยศรีจะอยู่ในทุ่งนครชัยศรีต่อไป เพื่อให้ลูกหลานและเราๆ ท่านๆ ได้มีโอกาสลิ้มชิมรสของดีของแผ่นดินอย่างยืนยาว

ขณะที่ความท้ายทายของเกษตรกรและหน่วยงานด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้อง คือ ความคุ้มค่าของการลงทุน กลไกการตลาดต้องดี ทำอย่างไรให้ขายข้าวได้ราคา ในขณะที่ต้องคุมคุณภาพของการผลิต ปริมาณความต้องการข้าวพันธุ์นี้ต้องมากพอที่จะทำให้ชาวนาในพื้นที่หันมาปลูก 

ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า เน้นปลูกข้าวด้วยระบบเกษตรอินทรีย์ สีข้าวด้วยโรงสีชุมชน เพื่อให้ได้ข้าวคุณภาพอันเป็นจุดขายสำคัญสนองตอบผู้บริโภคข้าวเพื่อสุขภาพที่มีมากขึ้น และยังมุ่งมั่นพัฒนาแผนการตลาด พร้อมถ่ายทอดเรื่องราวความอิ่มเอมอันแสนภาคภูมิจากการปลูกข้าวของแผ่นดิน

โดยล่าสุด ทางกลุ่มได้พัฒนารูปแบบบรรจุภัณฑ์ของข้าวทุ่งนครไชยศรีให้ซื้อหาและส่งต่อกันได้ง่ายขึ้นในรูปแบบของ “ข้าวที่ระลึก” โดยแบ่งบรรจุข้าวสารในกล่องบรรจุภัณฑ์แบบ ECO และผูกโบว์สวยงาม สนนราคากล่องละ 50 บาท

เราคนหนึ่งล่ะที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่ ก็ถ้าสาวงามขาดน้ำใจก็คงไม่ใช่สาวนครปฐมใช่ไหมล่ะ…ว่าแล้วจะช้าอยู่ใย…ถึงเวลางานขายก็ต้องมา

ท่านสามารถติดต่อขอสั่งซื้อข้าวหอมนครชัยศรีได้ที่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า ต.ลานตากฟ้า อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม สามารถติดต่อได้ที่พี่นัน  นันทา ประสารวงษ์ ประธานกลุ่ม เบอร์โทรติดต่อ087-552-2262นะจ๊ะ

หรือหากเพื่อนๆ มีเวลาจะไปเยี่ยมชมแปลงนาอินทรีย์ถึงทุ่งนครชัยศรี ทางกลุ่มก็ยินดีนะ แผนที่เราแนบไว้ให้ด้านล่างเรียบร้อย…แล้วอย่าลืมอุดหนุนข้าวพันธุ์ดี ข้าวสารขาว ข้าวแห่งความภูมิใจของชาวนครชัยศรีกันเยอะ ๆ นะ

#ข้าวหอมนครชัยศรี ข้าวที่มีดีไม่ใช่แค่อิ่ม

by Suwanna Sayruamyat and Apai Chanthachootoe

ปล. งานนี้ไม่ได้ค่าโฆษณาใดๆ เราอยากช่วยสนับสนุนทางกลุ่มที่มีความตั้งใจดี และอยากให้ข้าวหอมนครชัยศรีคืนทุ่งได้อย่างยั่งยืน 

หากท่านใดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

#eatecon

ที่มา
https://www.facebook.com/pg/SAF.Thailand/photos/?tab=album&album_id=1781352048797592

แผนที่โรงสีชุมชนของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชนคลองโยง-ลานตากฟ้า

Leave a Reply