เรื่องเล่าประสบการณ์ในการทำ Fasting

สวัสดีแฟนเพจ EatEcon บทความนี้หนึ่งในทีมแอดมินของเพจ EatEcon จะเล่าประสบการณ์การทำ 16/8 Fasting มาให้เพื่อนๆได้อ่านกัน

ก่อนอื่นต้องขอเล่าที่มาที่ไปกันก่อนว่าทำไมทุกวันนี้มีหลายคนหันมาสนใจทำ Fasting

สืบเนื่องมาจากในช่วงสองปีที่ผ่านมาแอดมินประสบกับภาวะน้ำหนักขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสาเหตุหลัก ๆ นั้นเกิดจากวิถีการใช้ชีวิตส่วนตัวของแอดมินเอง นั่นคือ การกิน และไม่สามารถห้ามใจการกินของตัวเองได้

ซึ่งก่อนหน้านี้ แอดมินนั้นออกกำลังกายโดยการวิ่งอย่างสม่ำเสมอ เฉลี่ยสัปดาห์ละประมาณ 20-40 กิโลเมตร ไม่น้อยเลยใช่มั้ย แต่มันไม่พอที่จะทำให้น้ำหนักคงที่หรือลดลง

แม้ว่าแอดมินออกกำลังกายเป็นประจำ จึงไม่ได้ใส่ใจในการควบคุมอาหารเท่าไหร่ แถมยังคิดว่า ออกกำลังกายแล้วกินได้

พูดได้ง่าย ๆ ว่า อยากกินอะไรก็กิน ทำให้เกิดภาวะน้ำหนักขึ้นอย่างช้า ๆ แต่ต่อเนื่องมาเรื่อย จากน้ำหนักประมาณ 80 กก. ขยับขึ้นไปถึง 89 กก. และด้วยภาระงานที่มาก เดินทางบ่อย ออกกำลังกายน้อย จึงทำให้คิดไปว่าเพราะไม่ได้ออกกำลังกายได้อย่างสม่ำเสมอ น้ำหนักจึงขึ้นเหมือนอดีต

ด้วยเหตุที่แอดมินชั่งน้ำหนักตัวเองเป็นประจำทุกๆ เช้าแถมบันทึกตัวเลขไว้ด้วย จึงมีตัวเลขบนตาชั่งบนไฟล์เอ็กเซลคอยย้ำเตือนอยู่ทุกวันถึงภาวะสุขภาพที่กำลังแย่ลง หากพล็อตกราฟออกมาก็คงได้ตอกย้ำลงไปอีก

อีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอก นั่นก็คือ เสื้อผ้าที่ใส่อยู่นั้นเริ่มจะคับ แถมยังโดนคนรอบข้างค่อยทักทายอยู่บ่อย ๆ จนทำให้รู้สึกขาดความมั่นใจทุกครั้งที่เห็นตัวเองในกระจก

หลังจากคิดใคร่ครวญใตร่ตรองอยู่นานหลายเดือน จนสุ่มเสี่ยงที่น้ำหนักตัวเองจะดีดกลับขึ้นไปเกิน 90 กก. นั้นคงจะเป็นเรื่องที่ไม่ดีแน่

พอลองนึกย้อนไปถึงในอดีตก็คิดได้ว่า พฤติกรรมการกินของเรานี่แหละ เป็นสาเหตุ ยอมรับตรง ๆ เลยว่า มื้อเย็น คือช่วงเวลาแห่งความสุข (อยากกินอะไร ก็หาได้ง่าย) แล้วค่อยมาทุกในยามเช้า (เพราะน้ำหนักขึ้น)

ณ จุดนั้น จึงตัดสินใจเริ่มทำ Fasting โดยได้ฟังเกร็ดความรู้จาก Podcast – Mission to the Moon ซึ่งแขกรับเชิญได้มาแชร์การทำ Fasting โดยกล่าวประโยคนึงที่ว่า “มนุษย์เราไม่ได้ทานสามมื้อมาแต่แรก แต่ก่อนมนุษย์เราหาอาหารได้เราถึงได้กิน แล้วก็ต้องอดอีกหลายวันจนกว่าจะหาอาหารได้ใหม่ จึงจะได้กินอีกครั้ง”

ข้อความนี้ทำให้เราคิดได้ว่า วิวัฒนาการทางสังคมเปลี่ยนวิถีการกินของมนุษย์จนกลายเป็นการกินเกินความจำเป็นของร่างกาย ถ้าหากเราปรับพฤติกรรมเราให้ย้อนกลับไปเป็นเหมือนมนุษย์แต่ก็ก่อน ก็ไม่น่าจะเสียสุขภาพ

แต่ก่อนจะเริ่ม Fasting เราคิดว่าควรจะหากลไกอะไรบางอย่างมาเป็นตัวควบคุม จึงหา App – Zero มาใช้บันทึกเวลาในการทำ Fasting ในแต่ละวัน

แต่แค่นั้นยังไม่พอ เรายังมีกฏที่ว่าการ Fasting นั้นต้องไม่มีวันยกเว้น คือไม่มี cheat day เพราะถ้าเรายอมหย่อนยานแม้แต่ครั้งเดียวนั้นก็จะทำให้ความตั้งใจที่ผ่านมาล้มเหลวไม่เป็นท่าได้

App – Zero สำหรับบันทึกเวลาในการทำ Fasting

เริ่มวันแรกเราเลือก 16/8 Fasting โดยการมีช่วงเวลาทานอาหาร 8 ชั่วโมง และช่วงเวลาอดอาหาร 16 ชั่วโมง ช่วงอดอาหารนี้เราสามารถดื่มได้เฉพาะน้ำเปล่าหรือกาแฟดำ (ห้ามใส่นมหรือน้ำตาล)

เพื่อเพิ่มสีสัน เราดื่มโซดาแทนน้ำ บางทีก็บีบมะนาวนิดหน่อย

เราสามารถเลือกการกินให้สอดคล้องกับชีวิตปกติของเราได้ด้วย คือ ทานได้ระหว่างช่วงเวลา 7.00 – 15.00 น. ซึ่งในช่วงเดือนแรก เรากินสามมื้อปกติ เพียงแต่ขยับมื้อในการกินเข้ามาอยู่ในช่วงเวลา 8 ชั่วโมงนี้

ผลการ Fasting ในช่วงเดือนแรก น้ำหนักลดลงเล็กน้อย แต่สิ่งที่ได้มากกว่านั้น คือ ไม่มีภาวะอาหารไม่ย่อย ตื่นเช้ามาทุกเช้า รู้สึกโล่งสบายไม่อึดอัด ไม่รู้สึกผิดเวลาขึ้นตาชั่ง แต่อาจจะมีอาการกินข้าวไม่ลงในมื้อเช้า อันเนื่องมากจากร่างกายไม่ได้รับอาหารเป็นเวลานึง

ความท้าทายในช่วงเดือนแรก ก็คือ คำชักชวนจากเพื่อนฝูงในการสังสรรค์

สิ่งที่เราทำก็คือ “ปฏิเสธ” หรืออาจจะไปสังสรรค์ด้วย แต่ไม่ได้ทานอะไร นอกจากดื่มน้ำเปล่า ซึ่งช่วงเวลานี้สิ่งที่ยากก็คือ การที่เรานั่งมองอาหารบนโต๊ะแล้วเห็นคนอื่นหยิบใส่ปากกิน จนบางครั้งรู้สึกอยากกินบ้าง แต่แล้วเหตุการณ์ก็ผ่านไปได้ด้วยดี

จากบันทึกพฤติกรรมการ Fasting ในภาพจะเห็นว่าเราทำได้มาประมาณ 70 วัน โดยมีวันที่ไม่ได้ทำ 4 วัน

ย้ำให้เห็นว่า หากเราสร้างพฤติกรรมจนเป็นนิสัยแล้ว การที่เราเปลี่ยนพฤติกรรมเล็กน้อย เช่นใน 4 วันนี้ ก็ไม่อาจจะเปลี่ยนนิสัยของเราได้ อันนี้เราได้ฟังมาจาก Podcast – Nopadol’s Story ว่าหากเราทำอะไรต่อเนื่องถึง 21 วันแล้ว มันจะกลายเป็นนิสัยของเรา

ในปี 2019 นี้เราตั้งเป้าไว้ว่า เราจะ Fasting ไม่น้อยกว่า 330 วัน (เผื่อไว้ฉลอง 1 เดือน) และยังมีเป้าหมายอื่น ๆ ที่ตั้งใจจะทำให้ได้ ซึ่งโดยหลัก ๆ ก็เป็นการเปลี่ยนนิสัยตัวเองให้ดีขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อสุขภาพที่ดี

ตลอดเวลาของการทำ Fasting ผลที่ได้ช่วยยืนยันความเชื่อของเราที่ว่า “Less is more” “ไม่มีใครเสียใจที่กินน้อย” อดบ้างก็ได้จะเป็นไร

บันทีกพฤติกรรมการ Fasting

By Winai Nadee and Suwanna Sayruamyat

หากท่านใดสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

#EatEcon

#ไม่มีใครเสียใจที่กินน้อย

Leave a Reply