ปลาดอร์ลี่ ไม่ได้ดีเหมือนอย่างชื่อที่สวยหรู

  • และแล้วส่ิงที่กลัวก็เกิดขึ้น ผลงานวิจัยล่าสุดของ ศ.ดร.จงรักษ์ ผลประเสริฐ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ชัดว่า ปลาดอร์ลี่ ของโปรดของคนไทยเจอสารปนเปื้อนสูงเกินค่ามาตรฐาน ที่สำคัญไม่ว่าจะต้ม ทอด หรือทำให้สุกอย่างไร ก็ไม่สามารถจัดการสารเหล่านี้ต่อไปได้

ปลาดอร์ลี่ รสชาตินุ่ม ไม่มีกลิ่นคาว ปรุงอาหารได้หลากหลาย และเมื่อวางอยู่ในจาน เนื้อขาวสวย ตัดกับผักสีสันสดใส กระตุ้นต่อน้ำลายเราได้ไม่น้อย แต่ความสวยนั้นไม่ได้เป็นมิตรกับเราสักเท่าไรนัก

ด้วยเหตุที่หาซื้อง่าย ราคาถูก แม้ว่าจะนำเข้ามาก็ตาม แต่ก็ไม่ใกล้ไม่ไกล เรานำเข้าปลาดอร์ลี่หรือปลาสวายจากประเทศเวียดนาม เพื่อนบ้านของเรานี่เอง 

เวียดนามผลิตปลาดอร์ลี่ได้เป็นจำนวนมากปีละไม่ต่ำกว่า 1 ล้านตัน ส่งออกมาณ 90% ในรูปแบบเนื้อปลาฟิเล่ไม่ต่ำกว่า 600,000 ตันต่อปี ไปยังตลาดหลัก คือ สหรัฐ ยุโรป และประเทศอื่นๆ กว่า 20 ประเทศ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ ไทย [3]

จากข่าวล่าสุดที่ออกมาเมื่อวานนี้ ทีมวิจัยของ ดร.วรุณศักดิ์ เลี่ยมแหลม ได้สุ่มตรวจปลาดอร์ลี่ที่นำเข้าที่ท่าเรือ พบสารตกค้างในอัตรา 4:1 (100 ตัวอย่าง เจอ 25 ตัวอย่าง) แสดงว่า ยาปฏิชีวนะที่ใช้นั้นสูงเกินมาตรฐานที่ควรจะเป็น และต้นทางไม่มีมาตรการควบคุมการใช้ที่ดีพอ ซึ่งไทยในฐานะผู้นำเข้าต้องตรวจสอบให้จริงจังมากกว่านี้

หลายคนคงสงสัยว่า สารตกค้างที่พบในปลาดอร์ลี่นำเข้าเหล่านี้มาจากไหน ?

สารตกค้างที่ตรวจพบเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะหลายชนิดเพื่อไม่ให้ปลาเจ็บป่วย แม้ว่าเวียดนามจะเลี้ยงในกระชังซึ่งโดยปกติจะใช้ยาปฏิชีวนะน้อยกว่าการเลี้ยงในบ่อดิน 

หากถามต่อว่า คนกินปลาที่มีสารตกค้างเหล่านี้เข้าไปจะเป็นอยางไร

ถ้าเรากินปลาที่มีสารตกค้างเป็นระยะเวลานาน จะส่งผลต่อการดื้อยาของร่างกายเรา 

เท่าที่เราสังเกต ปัจจุบันเราเป็นหวัดกันนานขึ้น เชื้อที่เราได้รับรุนแรงขึ้น เป็นทีกว่าจะหลายใช้เวลาเกือบสองสัปดาห์ เราว่าสาเหตุหนึ่งก็มาจากยาปฏิชีวนะที่เรากินจากอาหารที่มีสารตกค้างสะสม และการกินยาปฏิชีวนะเข้าไปโดยตรงนี่แหละ แถมกินกันแบบพร่ำเพรื่อซะด้วย [1]

ดูเหมือนจะไม่อันตรายเท่าไรใช่มั้ย แต่…

ผลของการดื้อยาเหล่าอันตรายถึงชีวิตนะ ซึ่งมีข้อมูลงานวิจัยของรองศาสตราจารย์ ดร.สพ.ญ.รุ่งทิพย์ ชวนชื่น และคณะ (2562) พบว่าเชื้อดื้อยานั้นถ่ายทอดได้ทางพันธุกรรมจากสัตว์ไปสู่คน [2]

ปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากการดื้อยาประมาณ 38,000 คน/ปี เจ็บป่วยประมาณ 700,000 คน ประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจราว 50,000 ล้านบาท/ปี

ซึ่งแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอนหากเรายังคงกินแบบไม่ระมัดระวังกันแบบนี้

นี่จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่หลายฝ่ายโดยเฉพาะด้านสาธารณสุข พยายามรณรงค์ให้ลดการใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษาอาการเจ็บป่วยของสัตว์บก สัตว์น้ำ รวมไปถึงคนเราด้วย

หากมองกันที่คุณค่าทางโภชนาการ ปลาดอร์ลี่ที่กินกันก็คงไม่ต่างกันกับปลาสวายบ้านเรา เพราะสายพันธุ์เดียวกัน นอกจากปลาสวายก็มี ปลาบึก ปลาคัง ปลาเทโพ ก็เป็นปลาในกลุ่มแพนกาเซียสเหมือนกันแค่สีอาจจะไม่ขาวสวยน่ากิน

แต่ขอบอกเลยว่า ปลาสวายมีโอเมก้า 3 นะจ๊ะ ใช่ว่าจะมีแต่ในปลาทะเล อย่างปลานิลก็มีนะ แถมโปรตีนสูงด้วย กรมอนามัยก็พยายามประชาสัมพันธ์ข้อมูลเหล่านี้ และที่สำคัญ ปลาไทยราคาไม่แพง อุดหนุนเกษตรกรไทย ได้สุขภาพดี วิน-วินกันทุกฝ่าย 

เราเลยไปค้นข้อมูลมาประกอบ เทียบให้เห็นเลยว่าระหว่างปลานิล ปลาสวาย ปลาดุก แล้วก็ปลาแซลมอน มีประโยชน์ยังไงบ้าง (ดูจากตารางด้านล่าง) ซึ่งก็พบว่าปลานิลนั้นไม่ธรรมดาเลย สมแล้วที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงเลือกปลานิลเป็นแหล่งโปรตีนราคาถูกของคนไทย

ที่มา: calforlife.com และ fatsecret.com  

ขณะที่โปรตีนที่ได้จากปลาแซลมอนก็ไม่ได้มากกว่าเท่าไร สำหรับเรา ส่วนเพิ่มที่ได้มาไม่ค่อยคุ้มค่ากับเงินที่เราจ่ายให้กับแซลมอนเท่าไรนัก กลับมากินปลาไทยดีกว่า

แต่อย่างว่าแหละ ส่วนหนึ่งของการเลือกคือ ความชอบ และปลาน้ำจืด เช่น ปลานิล ก็มีปัญหาเรื่องกลิ่นที่คาว และมีกลิ่นดิน หากเลี้ยงในบ่อดิน แต่ถ้าเลี้ยงในกระชังกลิ่นเหล่านี้ก็จะน้อย

จะเห็นว่าทางเลือกที่ถูกและดีมีอยู่ใกล้ๆ ตัวเรา เพียงแต่เรามักจะมองข้าม เพราะเป็นของใกล้ตัว เหมือนของตาย จะกินเมื่อไรก็ได้ สุดท้ายเลยไม่ได้กิน 555

#กลับมาหาของดีใกล้ตัวกันเถอะ #กินดีไม่จำเป็นต้องแพง

#เรื่องดีดีมีให้อ่านทุกวัน

***สนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์และพฤติกรรมของเราและคนรอบสามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

ที่มา

1.พัชราพรรณ กิจพันธ์ และจันทรรัตน์ สิทธิวรนันท์. 2561. วิกฤติเชื้อดื้อยาสู่การใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล. วารสารอาหารและยา ฉบับเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม

2. รุ่งทิพย์ ชวนชื่น และคณะ. 2562. การเฝ้าระวังเชื้อดื้อยาในเชิงสุขภาพหนึ่งเดียวในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกเฉียงใต้.

3. http://www.cp-enews.com/news/details/cpreal/222

http://www.nationtv.tv/main/content/378698350/

ภาพปกจาก Food photo created by mrsiraphol – www.freepik.com

Leave a Reply