ข้ออ้างของการตามใจปาก

  • เมื่อเราอยากกิน เรามักจะหาข้ออ้างมาสนับสนุนการกินของเราได้เสมอ 
  • ‘รู้อยู่แก่ใจว่าไม่ดี แต่มันอดไม่ได้’

————————————————————————————————————

ทุกคนอยากหุ่นดี ใส่เสื้อผ้าได้ทุกแบบด้วยความมั่นใจ มีสุขภาพแข็งแรง คงไม่มีใครอยากป่วย แต่ความอยากเหล่านี้มันคงเป็นที่ความฝันที่เลือนลาง เมื่อเรายังหาเหตุผลของการกินตามใจปากได้ทุกครั้ง

การหาเหตุผลต่าง ๆ นานามาสนับสนุนการกินที่เกินพอดี แบบนี้ในทางเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมเรียกว่า ความลำเอียงเพื่อยืนยัน หรือ Confirmation bias 

ขอยกตัวอย่างง่าย ๆ คนที่ชอบบอกว่า เวลาเครียดต้องกิน ถ้าไม่กินจะเครียด !!!

มีใครปฏิเสธบ้างว่า ไม่เคยได้ยินข้ออ้างเหล่านี้ สำหรับเรา เหตุผลนี้เราได้ยินบ่อยสุด

แต่…มันมีเหตุผลของการตัดสินใจมากกว่านั้น ที่ทำให้เราลำเอียงเข้าข้างตัวเอง

เพราะ ‘รู้อยู่แก่ใจว่า…ไม่ดี แต่มันอดไม่ได้

มันเพราะอะไรกันนะ ที่ทำให้ความอยากเอาชนะได้ทุกครั้งไป

ในหนังสือชื่อ “เล่นหุ้นอย่างไร ไม่ให้ลำเอียง” ของ ศ.ดร.นภดล ร่มโพธิ์ [1] เจ้าของเพจ Nopadol’s story เขียนเหตุผลหนึ่งของความลำเอียงในการตัดสินใจเรื่อง “Moral Credential Effect: เราเคยทำถูก ดังนั้น เราจึงทำผิดได้” (เจ้าของไอเดียนี้คือ Monin & Miller เมื่อปี 2001 [2])

งานวิจัยนี้มี 3 กรณีศึกษา 

  • กรณีแรก พบว่าผู้ชายที่มีโอกาสแสดงความไม่เห็นด้วยกับการกีดกันทางเพศมาก่อน ต่อมามีแนวโน้มที่จะโหวตให้กับผู้สมัครเพศมากกว่าหญิง
  • กรณีที่ 2 พบว่า คนผิวขาวที่เคยจ้างพนักงานผิวดำมาก่อน มีแนวโน้มที่ครั้งต่อไปจะเลือกคนผิวขาวเข้ามาทำงานมากกว่าคนผิวดำ
  • กรณีสุดท้าย พบว่า ผู้ที่ได้แสดงออกว่า ไม่มีความลำเอียง ไม่ได้อคติ หรือเข้าข้างใคร มักมีแนวโน้มที่จะให้ความเห็นทางการเมืองที่ลำเอียงเมื่อผู้ฟังคล้อยตาม

เราจะเห็นว่าการแสดงออกซึ่งความไม่เห็นด้วยกับการกีดกันทางการเพศ การเหยียดสีผิว หรือความไม่มีอคติ เปรียบเหมือนใบเบิกทางของการทำในสิ่งตรงกันข้ามในภายหลัง

หลายคนคงสงสัย แล้วเราเอามาโยงกับเรื่องการกินยังไง

อันที่จริงแล้ว ในมุมมองของเกี่ยวกับพฤติกรรมการกินของเรา มันคงไม่ได้ร้ายแรงเท่ากับการเหยียดสีผิว ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศ การทำผิดศีลธรรม หรือการทำผิดกฎหมาย 

แต่แนวคิดนี้ทำให้เรานึกถึงวลีหนึ่ง …“ออกกำลังกายแล้วกินได้” เป็นไง เพื่อน ๆ ได้ยินกันบ่อยมั้ย 

พอตามใจปากทุกครั้งหลังออกกำลังกาย วลีที่มักจะตามมาคือ “เราจะเป็นหมูที่แข็งแรง” พร้อมกับเสียงฮาของเพื่อนร่วมวงสนทนา

เอาอีกคำ “Cheat day” ควบคุมมาทั้งอาทิตย์ ขอปล่อยสักวัน ไม่เป็นไร 

เราอาศัยการออกกำลังกาย ควบคุมอาหาร มาเป็นใบเบิกทาง นี่คือความลำเอียงที่ทำให้หลายคน ออกกำลังกายเท่าไรก็ไม่เพียว ควบคุมน้ำหนักแทบตาย ไม่ได้ช่วยอะไร แถมน้ำหนักขึ้นเอา ๆ

หากถามเราว่า ข้ออ้างทั้งหลายที่เราใช้อยู่มันแย่ขนาดนั้นเลยเหรอ 

คำตอบคือ “ไม่” มันไม่ได้แย่ขนาดนั้น แต่มันไม่ควรเกิดขึ้นบ่อย

เพราะถ้ามันบ่อย ทำจนเป็นปกติ มันจะทำให้สิ่งที่เราพยายามทำไม่ว่าจะเป็น การออกกำลังกาย หรือการควบคุมอาหาร ไร้ประโยชน์

เราเข้าใจว่าการกิน ทำให้เรามีความสุข แต่เราต้องกินแต่พอดี 

อย่าหาข้ออ้าง ‘ตามใจปาก’ ไปมากกว่านี้

ถ้าถามว่า แล้วจะแก้ยังไง?

เราแนะนำหนังสือชื่อ No Excuses เขียนโดย Brian Tracy แปลไทยเรียบร้อย ชื่อ “กำจัดข้ออ้างสุดท้ายออกจากชีวิต: No Excuses” แค่ชื่อก็โดนละ บางคนไม่กล้าซื้อ แต่บอกเลยว่า ยิ่งอ่านยิ่งโดน หนังสืออาจจะหนาหน่อย แต่อ่านง่าย เรารับรองว่าคุ้ม

ภาพจาก https://www.se-ed.com

หากอ่านแล้ว ลองทำตามคำแนะนำดูนะคะ แล้วมาแชร์กัน

#ด้วยรักและห่วงใยจากทีมEatEcon

#เรื่องดีดีมีให้อ่านทุกวัน

หากเพื่อนสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับการกินในมุมมองเศรษฐศาสตร์ สามารถอ่านบทความอื่นๆเพิ่มเติมได้ที่ www.eatecon.com

#eatecon

ที่มา 

1. นภดล ร่มโพธิ์. 2559. เล่นหุ้นอย่างไร ไม่ให้ลำเอียง. กรุงเทพ: โรงพิมพ์อักษะสัมพันธ์ (1987).

2. Monin, B. & Miller, D. T. 2001. Moral credentials and the expression of prejudice. Journal of personality and social psychology, 81, 33.

3. Photo by Gervyn Louis on Unsplash

Leave a Reply